อ.เจษฎา ชี้ชัด โซดา ล้างฟอร์มาลีนในอาหารทะเลไม่ได้

กลายเป็นกระแสที่กลับมาแชร์กันอีกครั้งบนโลกออนไลน์ กับความรู้ที่ว่า น้ำโซดา สามารถล้างฟอร์มาลีนที่แช่อาหารทะเลมาได้ ซึ่งหลายคนก็กะว่าจะทำตาม เพราะทราบกันดีว่า อาหารทะเลมักมีการแช่ฟอร์มาลีนเพื่อคงความสด
ล่าสุด อาจารย์เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาชี้แจงแล้วว่า ความรู้ที่แชร์กันนั้นไม่จริง โซดาไม่สามารถล้างฟอร์มาลีนออกจากอาหารทะเลได้ โดยอาจารย์เจษฎา ได้ระบุว่า
"เรื่องเก่าเล่าใหม่ "น้ำโซดา ไม่ได้ล้างฟอร์มาลีน ในอาหารทะล" ฟอร์เวิร์ดเมล์มั่วเรื่องนี้ ไม่ได้เห็นนานแล้ว แต่เพิ่งกลับมาแชร์กันมาใหม่อีกครั้งหนึ่ง เค้าอ้างว่า "อาหารทะเล มีการแช่ฟอร์มาลีนจากห้องเย็นในทะเล ให้เอาไปแช่น้ำโซดา 2 ขวด แล้วล้างออก จะกำจัดฟอร์มาลีนได้ เพราะ กรด (ฟอร์มาลีน) + ด่าง (โซดา) = ได้เกลือ + น้ำ" ... ไม่จริงนะครับ !! น้ำโซดาไม่อาจล้างฟอร์มาลีนออกไป ตามสมการเคมีที่ว่านะ
การแช่น้ำโซดาก่อนทำอาหาร เพราะคิดว่า "ด่างจากโซดาจะไปสะเทินฟอร์มาลีน ให้กลายเป็นกลาง" นั้น ไม่จริงแน่ๆ ครับ เพราะน้ำโซดา ไม่ได้มีพีเอชเป็นค่าด่าง แต่เป็นกรดอ่อน จากกรดคาร์บอนิก จากการที่อัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงไปในน้ำ เหมือนกับที่ทำน้ำอัดลมน่ะครับ
จริงๆ แล้ว วิธีแก้ปัญหาเรื่องสารฟอร์มาลีนปนเปื้อนในอาหารนั้น ให้เริ่มจากการเลือกซื้ออาหารที่ดูแล้วปลอดภัย เช่น ไม่มีกลิ่นฟอร์มาลีน เนื้อปลาใส ไม่ขุ่น-ฉีกง่ายได้ด้วยมือหรือไม่ต้องใช้มีด ฯลฯ
นอกจากนี้ ยังมีคำแนะนำของทางสาธารณสุข ฮ่องกง ถึงวิธีการลดฟอร์มาลีนปนเปื้อนในอาหาร ตามนี้ครับ
1. ให้ล้างอาหารให้ทั่วถึงด้วยน้ำประปาไหลผ่าน เพราะสารฟอร์มาลดีไฮด์ (ในฟอร์มาลีน) นั้นละลายได้ในน้ำ
2. แช่อาหารแห้งอย่างพวกเห็ดหอมแห้งในน้ำ แล้วเทน้ำทิ่งไปก่อนจะทำอาหาร
3. ปรุงอาหารให้อุณหภูมิสูงถึง 75 องศา ซึ่งความร้อนจะช่วยลดฟอร์มาลดีไฮด์"
จะแช่กี่ขวด จะแช่นานแค่ไหน เราก็ยังคงรับฟอร์มาลีนเข้าร่างกายอยู่ดี ซึ่งเราต้องใช้วิธีการจัดการกับอาหารทะเลให้ถูกวิธี เพื่อความปลอดภัยค่ะ
เรียบเรียงเนื้อหาโดย : kaijeaw.in.th, ขอขอบคุณที่มาจาก : อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์