พ่นเซรามิคโค๊ตติ้ง บนหลังคาบ้าน ช่วยลดอุณหภูมิ2-3องศา
สำหรับเพื่อนๆที่กำลังมองหาฉนวนกันความร้อนภายในบ้าน วันนี้kaijeaw.in.th ขอแนะนำลดความร้อนภายในบ้านโดยการพ่นเซรามิค โค๊ตติ้งบนหลังคา โดยสมาชิกพันทิปคุณ BANGKOK SYNDROME เล่าว่า...
เนื่องจากเพิ่งจ้างช่างมาทำเสร็จไปสดๆร้อนๆจึงขออนุญาตมาแชร์เผื่อเป็นประโยชน์สำหรับคนที่กำลังหาวิธีการลดความร้อนภายในตัวบ้านนะคะ
ภาวะโลกร้อนหนักหนาสาหัสแค่ไหน
เรื่องนี้คงรับรู้กันได้ทุกคน ยิ่งใครเกิดมานานแล้ว 555 คงจำความกันได้ว่าสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงไปมากเพียงใด หลายๆคนคงเคยสัมผัสกรุงเทพฯที่ฤดูหนาวยาวนานเดือนหรือสองเดือน ส่วนตัวก็จำได้ดีว่าตอนเด็กๆ เราใส่เสื้อหนาวกันนานจริงๆค่ะ ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์บอกว่าตอนนี้โลกของเราร้อนขึ้นปีละ 1 องศา ไม่ใช่เรื่องเล่นๆเลยนะคะ ในความเห็นของเราจึงแน่นอนว่าการลงทุนทำให้บ้านเย็นไม่ว่าจะวิธีไหน ไม่ใช่การเสียเปล่าอย่างแน่นอนค่ะ เพราะมันมีแต่จะร้อนขึ้น ไม่มีเท่าเดิม ไม่มีเย็นลง
ขอออกนอกเรื่องไปหน่อย เมื่อ 30 ปีที่แล้ว มีคนนำนวัตกรรมการใช้โฟมทำผนังบ้านเข้ามาในเมืองไทย และคุณพ่อเราก็เป็นคนที่ทันสมัยเป็นอย่างมาก ได้ลองทำผนังโฟมนี้ที่ผนังด้านทิศตะวันตกทั้งหมดของบ้าน และห้องแม่บ้านทั้งหลังรวมถึงหลังคา เนื่องจากเป็นห้องเล็กๆ 3X3 ม. แยกออกไปจากตัวบ้าน โดยวิธีการก็คือนำแผ่นโฟมมาใส่ตรงกลางระหว่างเหล็กตะแกรงสาน 2 ข้างและพ่นซีเมนต์ จากนั้นจึงฉาบเรียบทาสีปกตินี่แหล่ะค่ะ ใครมองภายในอกจะไม่รู้เลยว่าภายในเป็นโฟม ส่งผลทำให้บ้านที่เราเติบโตมาเป็นบ้านที่จนถึงทุกวันนี้ ใครมาก็ถามว่าทำไมบ้านเย็นจัง โดยเฉพาะชั้นล่าง บ้านเป็นบ้าน 3 ชั้น เราไม่เคยติดแอร์และไม่เคยรู้สึกว่าอยากติดแอร์ จนปีสองปีนี้แหล่ะค่ะที่เริ่มรู้สึกความร้อนมันเพิ่มจนอยู่ในระดับที่ไม่สบาย กลับมาเรื่องผนังโฟมต่อ เทคโนโลยีดีๆแบบนี้คนไทยไม่รับ ธุรกิจจึงได้ล้มตายหายจากไปนานแล้วละ ทั้งๆที่เป็นของดีมากๆ ผนังโฟมนี้ยังอยู่คงทนมา 30 ปีและจะอยู่ต่อไปในบ้านคุณพ่อจนกว่าจะมีคนมาทุบมันทิ้งนั่นแหล่ะ บางทีก็เศร้าใจที่วงการก่อสร้างบ้านเรายังเดินหน้าทำผนังด้วยการก่ออิฐฉาบปูนหรือพรีแคสก็เถอะ คือไม่คิดเปลี่ยนอะไรเพื่ออนาคตเลย สักแต่จะทำถูกๆ
บ้านหลังน้อยๆที่ควรเป็นสวรรค์ของเราแต่กลับร้อนนรก
ขอเล่ามาถึงบ้านที่ได้ทำการพ่นเซรามิค โค๊ตติ้ง เป็นบ้านชั้นเดียวที่สร้างขึ้นใหม่ให้คุณยายในที่ของพ่อนี่ละ เมื่อคุณยายเสียไป เราจึงยึดบ้านนี้มาเป็นของตัวเอง แน่นอนว่าบ้านชั้นเดียว จะร้อนกว่าบ้าน 2-3 ชั้นอยู่แล้ว เพราะชั้นที่ติดกับหลังคาจะร้อนที่สุด หลายคนสงสัยว่าระหว่างความร้อนที่แผ่เข้ามาทางหน้าต่าง ผนัง เทียบกับความร้อนที่มาจากหลังคา อันไหนมันมี % มากกว่ากัน ขอคอนเฟิร์มเลยว่าหลังคาค่ะ หลังคาเป็นพื้นที่รับแดดตรงๆที่ใหญ่ที่สุดของบ้าน การใส่ฉนวนความร้อนจึงเป็นสิ่งจำเป็นมากๆ และเราบอกทุกคนที่รู้จักเสมอว่าให้ใส่ 2 ชั้นไปเลย ทั้งแบบใต้หลังคาที่วางบนแป และแผ่นหนาที่วางเหนือฝ้าเพดาน เพราะก่อสร้างเสร็จแล้วจะมารื้อทำมันวุ่นวาย
บ้านหลังที่ทำการพ่นหลังคาไปนี้ ใส่ฉนวนแค่ชั้นเดียว แถมวัสดุเป็นกระเบื้องลอนคู่ พอย้ายมาอยู่บ้านหลังน้อยหลังนี้ จึงได้รู้ว่า ร้อนนรกเป็นเช่นไร ก้าวเท้าเข้าไปในบ้านเหมือนก้าวเข้าไปในเตาอบยังงัยยังงั้นเลยค่ะ ไม่มีทางมีชีวิตอยู่ได้หากไม่เปิดแอร์ ซ้ำร้ายเมื่อเปิดแอร์แล้ว ด้วยความที่เป็น Invertor สมมติเปิดสองทุ่ม จนสี่ทุ่มก็ยังไม่เย็นเลยค่ะ เพราะความร้อนมันแผ่ออกมาตลอดเวลาจากตัวบ้าน จากที่เคยนอนบ้านคุณพ่อเปิดแอร์ 26 คือหนาวอ่ะ และเย็นภายในสิบนาที มาบ้านนี้ต้องเปิด 25 และจะเริ่มเย็นตอนเที่ยงคืน!!! กลางคืนก้าวเข้าห้องน้ำคือตกใจมาก ไม่เคยเจออะไรแบบนี้ มันร้อนผ่าวแม้ในเวลากลางคืน จึงนั่งคิดนอนคิดไม่รู้จะแก้ไขยังงัยดี เปิดอินเตอร์เน็ตไป คือถ้าใส่ฉนวนเพิ่มก็แลดูจะต้องเปิดฝ้า กลัวช่างจะเข้าไปตายในนั้นซะก่อนเพราะบ้านก็สิบปีแล้ว ไม่รู้มีขี้หนูหรืออะไรเกิดขึ้นบ้างใต้หลังคา 555
มาเจอวิธีการพ่นสีบนหลังคาค่ะ ซึ่งเท่าที่ดูมีแบบพ่นเซรามิค กับ PU foam ไปเลย โรงงานนิยมทำกันมาก เซรามิคจะถูกกว่าค่ะ ตรม.ละ 180-200 ส่วน PU foam ซึ่งเข้าใจว่าเย็นกว่าตกประมาณ ตรม. ละ 300-350 จากการสอบถามช่างการพ่นเซรามิคจะลดอุณหภูมิที่พื้นผิวของหลังคาได้ 5-10 องศาเลย ซึ่งเราก็พยายามไปถามคนที่เคยทำแล้วว่าลดได้จริงไหม ก็ไม่ค่อยมีคนมาตอบ มีแค่คนเดียวตอบว่าทำแล้วไม่ช่วยอะไรเลย แป่ว ปรึกษาที่บ้าน กลับบอกให้ปลูกต้นไม้คลุมหลังคาอีก เอาเข้าไป หรือจะติดสปริงเกอร์บนหลังคาเราไม่เห็นด้วย แล้งจะตายอยู่แล้ว เกษตรกรลำบาก ถ้าบ้านทุกหลังในประเทศนี้รดน้ำบนหลังคาคือได้ไหมอ่ะคะ ตัดสินใจ เอาฟะ ลองเองถึงจะรู้เอง
หลังคาที่บ้านตก 130 ตร.ม. ช่างจะมาคำนวณให้เพราะต้องบวกความชันเข้าไปอีก แต่ใครจะเอาพื้นที่บ้านมาบวกสัก 10-15% ก็ได้คร่าวๆ ต่อรองมาได้ 20,000 บาท
วันแรกช่างจะมาทำฉีดล้างหลังคาด้วยเครื่องฉีดน้ำความแรงสูงค่ะ เราคิดว่าหลังคาเราไม่สกปรกขนาดนั้นเนอะ ฝนตกก็ชะล้างตลอด ที่ไหนได้ น้ำที่ไหลออกมานี่ดำปี๋ๆๆๆ สยองสุดๆ ใช้เวลาประมาณครึ่งวันก็เสร็จ
ระหว่างฉีดมีหยดน้ำไหลลงบนฝ้าได้ยินเสียงเป๊าะแป๊ะๆเยอะอยู่ แต่ช่างบอกปกติที่น้ำจะเข้าได้จากการฉีดล้างช่วงสันหลังคาค่ะ
วันต่อมาก็ถึงเวลาพ่น Ceramic ค่ะ จะมีสีเดียวเท่านั้นคือสีขาวนะคะ การพ่นจะรองพื้น 1 ชั้นและตัวเซรามิค 2 ชั้นค่ะ ใช้เวลาหนึ่งวันเต็ม
รูปนี้เดาว่าพ่นสีรองพื้น
ได้หลังคาบ้านสีขาวสวยงามเลย
มาลองวัดอุณหภูมิกัน เดือนพฤษภาคมไม่ใช่ช่วงร้อนที่สุดนะคะ เมษาร้อนกว่า แต่ก็เทียบดู เทอโมมิเตอร์อาจจะไม่ได้เสถียรมากนะคะ ซื้อมาถูกๆ
ซ้ายสุดเป็นการวางไว้ที่ระเบียงนอกบ้านค่ะ ไม่ได้ตากแดดนะ อ่านได้ 36-37 องศา
ตรงกลางภายในบ้านก่อนพ่น อ่านได้ 33 องศา
ขวาสุดหลังจากพ่นแล้ว อ่านได้ 30-31 องศา
สรุปผลคืออุณหภูมิภายในบ้านลดไปได้ 2-3 องศาค่ะ อาจจะดูไม่มาก แต่ความรู้สึกแตกต่างกันเยอะค่ะ มันร้อนแต่มันไม่รู้สึกเหมือนอาศัยในเตาอบอย่างแต่ก่อน และการทำความเย็นของแอร์ก็ต่างกันเลย ตอนนี้กลางวันเราเปิดแอร์ตั้งแค่ 28 องศาเท่านั้นก็เย็นแล้ว และพอปิดแอร์ จากเดิม 5 นาทีกลับมาร้อนละ แต่ตอนนี้ปิดแอร์ไปชั่วโมงนึงก็ยังพอมีความเย็นหลงเหลืออยู่ เปิดพัดลมช่วยเอา ส่วนกลางคืนก็นอนหลับสบายขึ้น เพราะสี่ทุ่มแอร์ก็เย็นพอดี เวลาไปเข้าห้องน้ำไม่รู้สึกผงะเพราะร้อนวูบเหมือนแต่ก่อน ส่วนการประหยัดไฟเรายังคำนวณไม่ได้ เพราะหลักๆอยู่คอนโดฯ บ้านนี้มาอยู่แค่เสาร์ อาทิตย์ค่ะ มีช่วง Covid Work from home นี่แหล่ะที่อยู่ทุกวันเลย แต่เดือนหน้าจะกลับไปทำงานแล้ว
หวังว่าจะเป็นประโยชน์นะคะสำหรับใครที่หาวิธีทำให้บ้านเย็นขึ้น การกันความร้อนจากผนังก็มีผลด้วยเหมือนกัน ต้องปลูกต้นไม้บัง ติดฟิล์ม ทำชายคา บ่อน้ำ อะไรก็ว่าไป กันทุกทางเพราะทางเดียวมันไม่พอ ช่วยกันนะคะ เพราะโลกเราร้อนขึ้นทุกวัน หากทุกคนคิดแค่เปิดแอร์ๆๆๆเพราะชั้นมีปัญญาจ่ายค่าแอร์ก็เท่ากับคุณกำลังขุดหลุมศพให้ลูกหลานตัวเองอยู่ หรือสร้างอนาคตที่อาจเลวร้ายกว่าไปเลยด้วยซ้ำ
เพราะคนเราคงอยู่ในโลกที่อุณหภูมิ 55 องศาอย่างมีความสุขไม่ได้หรอกค่ะไม่ว่าจะมีเงินเท่าไหร่ วันนั้นจะเกิดภัยพิบัติอะไรบ้าง สัตว์ต่างๆที่สำคัญต่อห่วงโซ่อาหารจะเป็นอย่างไร ทุกอย่างล้วนส่งผลต่อเราหมดนะคะ ขนาดบ้านเราไม่ได้อยู่เป็นหลัก ค่าแอร์ไม่ได้แพงเกินเว่อร์ แต่เราได้ช่วยโลกนี้สักนิดหน่อย เราก็มีความสุขของเราละค่ะ
เรียบเรียงโดย : kaijeaw.in.th ขอขอบคุณที่มา : BANGKOK SYNDROME