7 สาเหตุที่ทำให้ชาวนาญี่ปุ่นรวยกว่าชาวนาไทย รับรายได้ต่อหัวถึงปีละ 3 ล้าน
ชาวนาเป็นอาชีพ หลักของคนไทยที่ส่วนใหญ่แล้วคนไทยในประเทศเราทำนา ปลูกข้าวเพื่อเลี้ยงดูครอบครัว แต่ทำไมเมื่อนึกถึงชาวนาแล้วก็ยังนึกถึงความจน โดยภาพของชาวนาส่วนใหญ่ที่ต้องทำนาเลี้ยงปากท้อง และขายข้าวเพื่อใช้หนี้สินที่หยิบยืมมา ชีวิตวนอยู่แค่นี้ ทำให้ลืมตาอ้าปากกันไม่ได้สักที แตกต่างจากชาวนาของประเทศญี่ปุ่นที่เราเห็นมักจะเป็นคนที่ร่ำรวยมากๆ
โดยทางเพจ ปลั๊กไทย by มหาชะนี ได้ออกมาโพสต์ถึงเรื่องนี้พร้อมวิเคราะห์ถึงสาเหตุที่ทำให้ชาวนาญี่ปุ่นร่ำรวย โดยระบุว่า ชาวนาญี่ปุ่น ทำนาปีละ 1 ครั้ง รายได้เฉลี่ยต่อหัวได้ถึงปีละ 3 ล้านบาท มาดูกันว่าอะไรทำให้ชาวนาญี่ปุ่นถึงร่ำรวย
1. ชาวนาญี่ปุ่นมองว่าการทำนาคือการทำธุรกิจ โดยที่ตนเองเป็นเจ้าของธุรกิจ จึงมีการพัฒนาบริหารการจัดการเพื่อลดต้นทุน เพราะการลดต้นทุน ก็คือการเพิ่มรายได้อีกทางหนึ่ง โดยชาวญี่ปุ่นทำนาเพราะอยากทำ และมองเห็นโอกาสสร้างเงินจากการทำนา เป็นการทำนาอย่างมีการวางแผน
2. ชาวนาญี่ปุ่นมองถึงการลดต้นทุนและการเพิ่มผลผลิตเป็นหลัก มีการเก็บรักษาฟางข้าวและใช้การไถกลบ ซึ่งทำให้เพิ่มไนโตรเจนในดินคิดเป็น 20% เลยทีเดียว ต่างจากชาวนาไทยที่ใช้วิธีการเผาฟางข้าว แล้วซื้อปุ๋ยมาเติมเอง ซึ่งมันดีแค่เพียงระยะต้น ๆ เท่านั้น และยังเพิ่มต้นทุนให้สูงขึ้นด้วย
3. ชาวนาญี่ปุ่นมีขั้นตอนการจัดการน้ำที่ดี รู้ถึงการปล่อยน้ำเข้าและการระบายน้ำว่าช่วงไหนเป็นช่วงที่ข้าวต้องการอย่างเหมาะสม และให้ความสำคัญในการรักษาความชุ่มชื้นในดินอย่างมาก
4. หน่วยงานรัฐของญี่ปุ่นให้ความสำคัญอย่างมาก และสนับสนุนชาวนาญี่ปุ่นตลอด เช่นการพัฒนาสายพันธุ์ข้าว การวิจัยในระดับดีเอ็นเอ และมีเทคโนโลยีการเพาะปลูกมาซัพพอร์ตชาวนาอยู่เสมอ
5. การกำหนดเขตการค้าจากทางรัฐ สมมติว่า ถ้าอยากได้ข้าวทุ่งกุลาร้องไห้ ก็ต้องไปซื้อที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ไม่มีการเอามาขายข้ามเขตกัน
6. รัฐบาลญี่ปุ่นซัพพอร์ตการกู้เงินปลอดดอกเบี้ยให้ชาวนา รวมไปถึงการสนับสนุนอุปกรณ์การเกษตรให้นำไปใช้ก่อน ผ่อนใช้ทีหลัง
7. รัฐบาลญี่ปุ่นสนับสนุนให้ปลูกข้าวในประเทศให้มากที่สุด เนื่องจากเคยเกิดสภาวะสงคราม ข้าวไม่พอบริโภค รัฐบาลจึงอุ้มและประกันราคาข้าวให้ได้สูงที่สุด โดยคนญี่ปุ่นยอมซื้อข้าวแพง และเป็นข้าวปลูกในประเทศ แต่คนญี่ปุ่นก็ไม่แคร์ เพราะชาตินิยม และคิดว่าข้าวของประเทศตัวเองดีที่สุด แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น รัฐก็ไม่ได้ปล่อยปละละเลย ก็ควบคุมไม่ให้ปริมาณข้าวล้นตลาดเช่นเดียวกัน
"ที่สำคัญที่สุดเลยคือรัฐบาลญี่ปุ่นกีดกันการนำเข้าข้าวจากต่างประเทศครับ คือต่างชาติแทบจะไม่มีโอกาส ส่งข้าวเข้าไปแข่งในตลาดข้าวใน ปท ญี่ปุ่นได้เลย ที่เข้าไปได้ก็ต้องขายราคาที่สูงมากเพราะถูกเก็บภาษีนำเข้าที่สูง อันนี้คือสาเหตุหลักเลย ที่เหลือเป็นเพียงส่วนประกอบ ทำให้ชาวนาญี่ปุ่นแทบจะไม่มีคู่แข่งในตลาดประกอบกับการปลูกข้าวในญี่ปุ่นได้ผลผลิตที่จำกัดมากเพราะพื้นที่ราบเหมาะกับการปลูกข้าวมีน้อย ก็คือชาวนาเป็นผู้ผูกขาดเลยล่ะครับ"
"พ่อตา แม่ยายผมมีอาชีพทำนา ไม่ได้ตั้งใจทำขาย ไม่มีหนี้สิน มีชีวิตสุขสบาย ทำเพียงเพราะตั้งใจเอาไว้กินเอง ให้ลูกให้หลานกิน เหลือถึงจะเอาไปขาย รถยนต์ไม่มีขับ ทีวีตู้เย็นก็ไม่ได้อยากมีเหมือนคนแถวบ้าน ก็เลยพอจะมีเงินเก็บอยู่บ้าง เปลี่ยนความคิดเรื่องวัตถุนิยมได้ ชาวนาไทยถึงจะรวยได้"
"ราคาปุ๋ยในไทยพุ่งทะลุเพดาน ค่าแรงเพิ่มทุกปี ราคาขายต่ำติดดิน ผมทำนา 50 ไร่แบบไม่มีหนี้ธกส. หรือหนี้ร้านขายปุ๋ย กำไรยังปีละไม่ถึงห้าหมื่นทำนาก็หวังรวยแหละ แต่สุดท้ายได้แค่จ่ายค่าน้ำค่าไฟ ค่าประกันรถ พยายามลดต้นทุนหลายๆ วิธีแล้ว แต่มันก็ไม่มีอะไรดีขึ้นมาเท่าไหร่"
"เรื่องสำคัญของประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่คือการที่รัฐเข้าไปอุดหนุนสิ้นค้าเกษตรนะครับ ดูรายได้ที่เกษตรกรขายกับราคาที่ขายตามท้องตลาดแทบไม่ต่าง บางทีตลาดขายถูกกว่าด้วย นั่นเป็นเพราะรัฐใช้เงินอุดหนุนนะครับ ถ้ารัฐไม่ทำราคาข้าวที่ขายหน้าร้านจะสูงกว่านี้เป็นเท่าตัว ประเทศที่พัฒนาแล้วจะทำแบบนี้กับสินค้าอุปโภคบริโภคขั้นพื้นฐาน เหมือนเนื้อสัตว์ ไข่ นม ที่ต่างประเทศราคาพอๆกับไทย แต่ค่าแรงต่างกันเยอะมาก นั่นเพราะรัฐ แทรกแซงทั้งนั้น และเมื่อรัฐต้องจ่ายตรงส่วนนี้จึงเกิดการพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตรให้ได้มากที่สุดใช้แรงงานน้อยที่สุด และผลผลิตเสียหายน้อยที่สุดเพื่อที่รัฐจะได้ชดเชยให้ได้น้อยที่สุดเช่นกัน...."
ชาวนาไทย กับ ชาวนาญี่ปุ่น มีความแตกต่างกันอย่างมากทั้งแนวความคิดและ วิสัยทัศน์ รวมถึงแรงสนับสนุนด้วย ฉะนั้นลองเปรียบเทียบ หรือวิเคราะห์กันดูว่าทำไมชาวนาไทยถึงน่าเห็นใจ และต้องแบกรับต้นทุนหลายอย่างมากขนาดนี้
ขอขอบคุณที่มาจาก : ปลั๊กไทย by มหาชะนี