ผอ.ชลประทานโคราช แจงสาเหตุปล่อยน้ำ ในจุดที่กำลังก่อสร้าง
จากกรณีโลกโซเชียลระดมแชร์ แจ้งเตือน ว่า อ่างเก็บน้ำลำเชียงไกรแตกขอให้ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่ท้ายอ่าง เร่งขนของขึ้นที่สูง พร้อมเฝ้าระวังติดตามมวลน้ำไหลเชี่ยวแรง แท้จริงแล้วอ่างเก็บน้ำไม่ได้แตก
ล่าสุดวันที่ 27 ก.ย.64 ทีมผู้สื่อข่าวออนไลน์ช่อง 8 ได้สอบถามไปยัง นายกิติกุล เสภาศีราภรณ์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานนครราชสีมา ระบุว่า จุดที่มีการแชร์ออกไป คือจุดที่กำลังก่อสร้าง ซึ่งทางชลประทานนครราชสีมา ทำเพื่อจงใจเพิ่มช่องระบายน้ำ ยืนยันไม่ใช่เขื่อนแตก ตอนนี้ยังอยู่ในสถานการณ์ที่ควบคุมได้ โดยพยายามปรับสมดุลน้ำให้เข้าออกเท่ากัน จึงต้องมีการเพิ่มช่องทางการระบายน้ำ โดยอนาคตมีแนวโน้มที่อาจเพิ่มช่องระบายน้ำอีก แต่ไม่ใช่เขื่อนแตกขณะที่เมื่อเวลา 19.00 น. สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดนครราชสีมา โพสต์ข้อความว่า.."แจ้งสถานการณ์อยู่ในภาวะเสี่ยงอันตรายสูง"
กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครราชสีมา แจ้งเตือนการระบายน้ำ อ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร (ตอนล่าง) ฉบับที่ 2
กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครราชสีมา พิจารณาแล้วขอให้ดำเนินการ ดังนี้
1. ให้อำเภอด้านท้ายอ่างฯ ได้แก่ อำเภอ #โนนไทย #พระทองคำ #เมืองนครราชสีมา #โนนสูง
#พิมาย #ชุมพวง #ลำทะเมนชัย และ #เมืองยาง แจ้งเตือนประชาชนให้ทราบถึงสถานการณ์อยู่ในภาวะเสี่ยงอันตรายสูง เจ้าหน้าที่กำลังดำเนินการควบคุมสถานการณ์ ให้อพยพไปยังสถานที่ปลอดภัย ในระดับสีส้ม โดยเฉพาะประชาชนที่อยู่ริมน้ำและที่ลุ่มต่ำให้เก็บทรัพย์สินสิ่งของจำเป็นขึ้นไว้ที่สูงกว่าที่เคย ระวังติดตามมวลน้ำไหลเชี่ยวแรง ดูแลเด็กเล็กและคนชรา ผู้ป่วยติดเตียง
2. ประสานท้องถิ่น ติดตั้งเครื่องสูบน้ำในจุดสำคัญทางเศรษฐกิจ จัดหาและสนับสนุนกระสอบทราย ให้กับประชาชนเพื่อปิดกั้นน้ำเข้าบ้านเรือนและพื้นที่สำคัญ จัดรถกระจายข่าวแจ้งเตือนประชาชน
ให้ทั่วถึง และจัดกำลังเจ้าหน้าที่ ประสานกำลังพลสนับสนุนการอพยพประชาชนไปยังศูนย์พักพิงที่เตรียมไว้ล่วงหน้า จัดตั้งโรงครัว หรือครัวพระราชทาน เพื่อดูแลผู้ได้รับผลกระทบและเจ้าหน้าที่
3. ให้ความสำคัญในการแจ้งให้พี่น้องประชาชนได้รับรู้อย่างทั่วถึง ขอให้ติดตามข้อมูลข่าวสาร และปฏิบัติตามคำแนะนำของทางราชการอย่างใกล้ชิด
4.กรณีการอพยพประชาชน ขอให้ไม่ต้องห่วงทรัพย์สิน ควรให้ความสำคัญกับความปลอดภัยในชีวิต และความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้น
5. ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจและฝ่ายปกครอง จะมีการจัดชุดลาดตระเวนตรวจตรา ตลอด๒๔ ชั่วโมง เพื่อป้องกันผู้ฉกฉวยโอกาสขโมยทรัพย์สิน
6. รายงานสถานการณ์ และผลการดำเนินการ ตามแบบรายงานเหตุด่วนสาธารณภัยพร้อมภาพถ่ายให้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครราชสีมาทราบทันที จนกว่าสถานการณ์จะสิ้นสุด
ภาพว่าสุดเช้าวันนี้ (27 ก.ย.64) ระดับน้ำในอ่างฯ ลดลง 30 ซม. (เริ่มลดลงเวลา 01:00 น.) และเหลือถึงระดับสันทำนบดิน อ่างฯ 60 ซม. นั่นหมายถึง ปริมาณน้ำที่ไหลเข้าอ่างฯ ประมาณ 400-500 ลบ.ม.ต่อวินาที < (ลดลง/น้อยกว่า) ปริมาณน้ำที่ไหลออกจากทุกช่องทาง (ช่อง river outlet ซ้าย/ขวา , กาลักน้ำ /สูบน้ำ ,รถสูบซิ่ง ,ทางระบายน้ำฉุกเฉินขวา (Emergency Spillway) , และช่องบ่อก่อสร้าง ประตูระบายน้ำ (Service Spillway)
ทั้งนี้ เมื่อระดับน้ำในอ่างฯ ทรงตัวและลดลง ทำให้ ไม่เกิดน้ำล้นข้ามทำนบดินสันของอ่างฯ ในลักษณะพังทลาย ณ เวลานี้สามารถบริหารน้ำออกจากอ่างฯให้มากกว่าหรือเท่ากับน้ำเข้าอ่างฯ รักษาความปลอดภัยเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ พ้นวิกฤติ และบรรเทาความเสียหายด้านท้ายน้ำ แต่ยังต้องเฝ้าระวังปริมาณน้ำที่ยังคงไหลลงมาจากตอนบน ห้วยสามบาท ที่ไหลลงมาอย่างต่อเนื่องต่อไป
เรียบเรียงโดย : kaijeaw.in.th ขอขอบคุณที่มา : โครงการชลประทานนครราชสีมา,ข่าวช่อง8