ทำไมต้องเป็นหนี้ในตอนที่อายุน้อย ๆ
การซื้อบ้านสักหลังนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายๆโดยเฉพาะคนที่ไม่ได้เกิดมาพร้อมสมบัติที่พ่อแม่สร้างไว้แล้วด้วยนั้นยิ่งทำให้การตัดสินใจ ซื้อบ้านและรถ เป็นเรื่องที่ยากมากๆ และเมื่อกู้ซื้อบ้านอาจจะต้องรับความเสี่ยงที่จะต้องพบเจอในอนาคตที่คาดไม่ถึงมากมาย วันนี้ไข่เจียวมีบทความดีๆ มาให้เพื่อนๆได้อ่านแล้วนำไปปรับใช้กัน
ทำไมต้องเป็นหนี้ในตอนที่อายุน้อย ๆ นั่นน่ะสิ
ผมก็งงอยู่เหมือนกันว่าค่านิยมแบบนี้มันเริ่มต้นมาจากไหน แต่เห็นบ่อยก็จากธุรกิจขายตรงหรือพวกวัยวุ่นขายครีมตามโซเชียลที่ต้องรีบมี รีบมาขิงใส่กัน
ทีนี้ด้วยนิสัยของผม เวลาผมจะทำอะไรสักอย่างผมก็จะตั้งคำถาม แล้วหาคำตอบว่ามันเหมาะกับเราไหม
ผมมักชอบอ่านข่าวหรือฟังวิถีชีวิตของคนต่างประเทศ เพราะอยากรู้ว่าเค้าคิดยังไง รู้สึกยังไง หรือทำแบบนั้นทำไม
เรื่องบ้านก็เหมือนกัน ในความเห็นของชาวต่างชาติ เค้ามักไม่ค่อยเป็นเจ้าของบ้านหรือที่อยู่อาศัยกันเท่าไหร่ ด้วยเหตุผลก็คือการเช่าอยู่มันถูกกว่า ไม่ต้องมีภาระผูกพันธ์ ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษา
ซึ่งผมเองก็คิดแบบนี้มาตลอด ตั้งแต่เริ่มต้นทำงาน เพราะผมกลัวพันธะผูกพันธ์ระยะยาว ผมกลัวการที่ต้องเป็นหนี้ 1 ก้อนแต่ผ่อนส่งถึง 30 ปี
ในช่วงต้นของชีวิต ผมจึงไม่มีความคิดอยู่ในหัวเลย แม้ว่าเพื่อนจะเริ่มต้นซื้อบ้าน ซื้อรถกันแล้ว เวลาใครถามผมก็บอกแต่ว่ายังไม่พร้อม แต่ผมก็ไม่เคยอธิบายเหตุผลว่าทำไมถึงยังไม่พร้อม
วันนี้ผมก็เลยจะมาเล่าให้ฟังว่าทำไมถึงไม่ควรมีบ้านหรือรถก่อนอายุ 30
สำหรับผมก็คือ ลักษณะการทำงานในยุคนี้ ผมไม่แน่ใจว่าที่อื่นเป็นเหมือนบ้านเราหรือเปล่า คือคุณแทบไม่สามารถโตในองค์กรของตัวเองได้ โตในที่นี่ไม่ได้หมายถึงแค่เลื่อนตำแหน่ง ผมหมายถึงโตในด้านความมั่นคงของตัวคุณเองด้วย
ยกตัวอย่างเช่น บริษัทหลายที่มักปรับเงินเดือนประจำปีให้ 5% หรือบางที่ก็ขึ้นให้ 500-1,000 ถามว่าถ้าคุณเริ่มต้นทำงานด้วยเงินเดือน 15,000 บาท คุณต้องใช้เวลากี่ปีในการทำให้มีเงินเดือน 20,000 บาท ถ้าคุณได้ขึ้นเงินเดือนปีละ 1,000 บาททุกปี คุณจะต้องใช้เวลาถึง 5 ปี
บางคนรอในการเลื่อนขั้น เลื่อนตำแหน่ง เพื่อให้ได้เงินเดือนสูงขึ้น ก็รอแล้วรออีก เพราะตำแหน่งไม่ว่าง แถมพอตำแหน่งสูงขึ้น ความรับผิดชอบก็กระโดดขึ้นยิ่งกว่าเงาตามตัว
ทีนี้ทุกคนก็เลยเลือกช๊อยส์ที่ขึ้นเงินเดือนได้เร็วขึ้น ก้าวหน้าในหน้าที่การงานได้เร็วขึ้น คือการเปลี่ยนงานเพื่ออัพเงินเดือน ถามว่าเปลี่ยนงานหนึ่งครั้งได้เพิ่มเท่าไหร่ เท่าที่ผมเคยคุยกับญาติสนิทมิตรสหาย ส่วนใหญ่มีตัวเลขในการเรียกเงินเดือนที่ใหม่อยู่ที่ 30-40% จากฐานเงินเดือนของตัวเอง ถามว่าทำไมถึงต้องเรียกสูงขนาดนี้ เพราะเมื่อคุณเข้าไปทำงานที่ใหม่แล้ว อย่างแรกคุณต้องเผชิญคือความเสี่ยง หากคุณไปไม่รอด ก็ต้องหางานใหม่ แต่หากไปรอด คุณก็จะตกไปอยู่ในวังวนเดิมคือมันไม่โต เงินเดือนไม่ขยับ สุดท้ายคุณก็ต้องย้ายอีก
อย่างผมในช่วงอายุ 20 ต้น ๆ ผมก็เจอปัญหาคือทำงานไปแต่ก้าวหน้าไม่ได้ คือเงินเดือนเท่าเดิม ทั้งที่เราพัฒนาตัวเองตลอดเวลา ศักยภาพเราก็ดี แต่ขยับไม่ได้เพราะไม่มีตำแหน่งว่างให้บริษัทบรรจุเราไปได้เลย ผมก็ใช้วิธีย้ายไปที่อื่น เพราะนอกจากตำแหน่งจะเพิ่มขึ้น เงินเดือนก็เพิ่มขึ้น
ทีนี้ลองคิดดูว่าเมื่อคุณเรียนจบอายุ 21 ปี คุณมีเวลา 9 ปี กว่าอายุจะถึง 30 คุณต้องย้ายงานกี่ครั้ง ?
ส่วนใหญ่ก็มักอยู่กันที่ละ 2-3 ปี เอาเป็นว่าคิดง่าย ๆ คุณอยู่ที่ละ 3 ปี และคุณจะย้ายงาน 3 ครั้งในช่วงเวลานี้
คุณมีเงินเดือนเริ่มต้นที่ 15,000 บาทสำหรับนักศึกษาจบใหม่
คุณย้ายงานครั้งที่ 1 คุณจะมีเงินเดือนราว ๆ 19,500 บาท
คุณย้ายงานครั้งที่ 2 คุณจะมีเงินเดือนราว ๆ 25,350 บาท
คุณย้ายงานครั้งที่ 3 คุณจะมีเงินเดือนราว ๆ 32,955 บาท
เมื่อคุณอายุ 30 คุณมีเงินเดือนประมาณ 32,955 บาท ตามหลักเกณฑ์ของธนาคารส่วนใหญ่ก็คือว่าคุณจะสามารถมีภาระหนี้ได้ไม่เกิน 40% ของรายได้ ฉะนั้นถ้าคุณเงินเดือน 32,955 นั่นหมายความว่าคุณจะสามารถเป็นหนี้ได้ราว 13,182 บาท ซึ่งบ้านที่ต้องผ่อนในเรทประมาณนี้คงไม่ใช่บ้านที่เป็นทาวน์เฮ้าส์ในเขตชุมชนแออัด หรือคอนโดขนาดเล็กแน่นอน
ส่วนระยะเวลา 9 ปีที่คุณใช้ในช่วงหลังเรียนจบ คุณไม่ต้องแบกภาระในการผ่อนบ้าน เงินตรงนี้สามารถเป็นเงินเก็บไปลงทุนในส่วนอื่น หรือใช้ในการปรนเปรอชีวิตตัวเอง ไม่ว่าจะกิน เที่ยว หรือซื้อของสนองตัณหา รวมถึงคุณสามารถเก็บเงินในระยะ 9 ปีนี้เพื่อนำไปเป็นเงินดาวน์บ้านได้อีกด้วย
แต่ด้วยสมัยนี้คนนิยมซื้อบ้าน คอนโดกันตั้งแต่อายุยังน้อย จะหลังเล็กห้องเล็กก็ไม่เกี่ยงขอแค่ได้เป็นเจ้าของ และปัญหาที่ตามมาก็คือเงินไม่พอใช้ ชักหน้าไม่ถึงหลัง ใช้ชีวิตอยู่บนความเครียด พอจะขายก็ขายยาก เพราะมันไม่ใช่สินค้าที่มีสภาพคล่องสูง และที่สำคัญเมื่อคุณมีหน้าที่การงานดีขึ้น การเงินมั่นคงมากขึ้น ส่วนใหญ่แล้วก็คงเลือกที่จะขายเพื่อขยับขยายให้ดีกว่าเดิมนั่นแหละ
แล้วผมรู้ได้ไงว่าพออายุมากขึ้น งานดีขึ้น เงินดีขึ้นจะอยากขายบ้าน ไปหาหลังใหม่ที่ดีกว่า ?
ก็เพราะผมเห็นตัวอย่างมามากมาย จากคนที่ขิง ๆ ผมในช่วงที่เค้าเริ่มเป็นเจ้าของสินทรัพย์เหล่านั้นนั่นแหละ
ในส่วนของรถยนต์ มันก็ขึ้นอยู่กับความจำเป็นส่วนบุคคลล้วน ๆ แต่ส่วนใหญ่แล้วมักซื้อกันในช่วงไม่จำเป็นโดยหาเหตุผลมารองรับว่ามันจำเป็นและสมควรซื้อ แต่ลืมคิดถึงค่าใช้จ่ายแฝงของมัน และลืมคิดไปอีกว่า
รถ = ลด เสมอ
รถไม่มีทางราคาเพิ่มขึ้น มีแต่ตกลงและมีค่าซ่อมบำรุงมากขึ้น คุณซื้อรถ 1 คัน อาจผ่อนแค่ 6-8 พันบาท แต่เมื่อรวมค่าใช้จ่ายแฝงแล้วคุณจะมีรายจ่ายกับรถถึงหลัก 10,000 บาทต่อเดือนเลย
ลองคิดดูว่าถ้าคุณไม่ได้จำเป็นจริง ๆ ที่ต้องมีรถเป็นของตัวเอง ค่าใช้จ่ายหลัก 10,000 บาทเกี่ยวกับรถ คุณจะนำไปทำอะไรได้บ้าง ?
โอ้โห ที่พูดมามีแต่ข้อเสียเนอะ
ก็ใช่น่ะสิ เพราะเวลาคนมันเอามาขิงกัน มันก็เอาแต่ข้อดีนี่แหละมาขิง มันไม่บอกหรอกว่าบางทีเงินจะเติมน้ำมันยังไม่มี ผ่อนบ้าน ผ่อนคอนโด จนต้องกินมาม่าประทังชีวิตก็มี
แล้วผมซื้อบ้านกับรถมั้ย ? แล้วซื้อตอนไหน ?
ถ้าผมไม่ได้มีลูก ของ 2 สิ่งนี้ก็แทบไม่จำเป็นกับผมเลย ด้วยเหตุผลก็คือการซื้อบ้านเป็นของตัวเองมันแพงกว่าการเช่าเขาอยู่ ยกตัวอย่างบ้านราคา 3.5 ล้าน ผ่อน 40ปี คุณจะมีดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายอยู่ราว ๆ 2.5 ล้าน ตอนคุณผ่อนมันดูไม่เยอะหรอก แต่ลองเอายอดผ่อนมาคำนวนดูสิ แล้วคุณจะร้อง อาจสงสัยอีกทำไมต้องซื้อบ้านในราคาที่สูงถึง 2-4 ล้านบาท เอาจริงก็คือการซื้อสังคมที่ดีนั่นแหละ ถึงแม้การซื้อบ้านจะเป็นเรื่องของโชคชะตาฟ้ากำหนดว่าเราจะเจอเพื่อนบ้านแย่จนแทบอยากขายบ้านทิ้ง หรือดีจนอยากจะเอาขึ้นหิ้งไปบูชา แต่ต้องยอมรับว่าระหว่างการซื้อบ้านราคาล้านต้น ๆ ในชุมชนแออัด กับบ้านราคาที่สูงกว่าในหมู่บ้านจัดสรรขนาดใหญ่ มันมีความแตกต่างในด้านนี้อยู่ สังคมความเป็นอยู่ล้วนต่างกัน แต่ก็ใช่ว่าซื้อบ้านแพง จะไม่เจอเพื่อนบ้านแย่นะ อันนี้อยู่ที่ดวงล้วน ๆ
ผมเองก็ตัดสินใจซื้อบ้านตอนต้นปี ด้วยเหตุผลคือผมกำลังมีลูก และตอนนี้หน้าที่การงานก็กำลังเข้าที่ สามารถแบกรับค่าใช้จ่ายได้ ผมซื้อก็ด้วยเหตุผลว่าผมอยากให้บ้านเป็นสินทรัพย์ให้บ้านในอนาคต เพราะผมถือว่าต้นทุนในชีวิตที่ดีที่สุดของคนเราคือบ้านและการศึกษา ถ้าคุณเรียนจบ บ้านคุณไม่ต้องเช่า คุณจะไม่ต้องมาพะวงอะไรเลย
และผมอยากให้ลูกผมได้ทำตามความฝันตัวเอง โดยไม่ต้องมาห่วงภาระข้างหลังนั่นเอง
ส่วนรถ ผมเองก็พึ่งตัดสินใจซื้อเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา กำลังรอผลพิจารณาจากไฟแนนซ์อยู่ สาเหตุที่ซื้อก็เพราะว่า เมื่อมีลูก คุณต้องพาลูกไปนั่นไปนี่ การขับมอเตอร์ไซค์มันไม่สะดวกหรอก ไหนจะแดด ไหนจะฝน ลูกป่วยพอดี ยิ่งผมมีลูกแฝดด้วย ถ้าต้องมาแบกหน้าแบกหลัง มันคงดูไม่จืด จริง ๆ ก็แค่อยากซื้อความสะดวกสบายให้ลูก แค่นั้นแหละ
แล้วถ้าไม่มีรถ จะไปเที่ยวยังไง ?
ผมเคยมีคำถามนี้ในหัวเหมือนกัน จนตอนที่ผมมีลูกนี่แหละผมก็ได้คำตอบ สำหรับผมแล้วถ้าต้องยกทั้งครอบครัวไปเที่ยว แล้วผมต้องมานั่งขับรถทางไกล ไหนจะต้องมาดูแลลูก เมื่อคำนวณค่าใช้จ่ายออกมาแล้วการไปเที่ยวครั้งนึงน่าจะใช้เงินไม่น้อยเลย
ผมก็มีความคิดว่าถ้าวันไหนต้องเดินทางไปเที่ยวจริง ๆ ก็เช่ารถเอา หรือนั่งเครื่องไปลงที่ปลายทาง แล้วก็ไปเช่ารถเอาที่ปลายทาง เที่ยวเสร็จ คืนรถ นั่งเครื่องกลับก็จบแล้ว ค่าใช้จ่ายไปกลับรวมค่าเช่ารถ อาจจะถูกกว่าการขับรถไปเองหรือพอ ๆ กัน แต่เหนื่อยน้อยกว่าแน่นอน
สุดท้ายแล้วคุณจะซื้ออะไรก็เลือกช่วงเวลาที่เหมาะสม ไม่ใช่ซื้อเพียงเพราะจะเอาไปขิงเพื่อนฝูง หรือโอ้อวดกับใคร
เพราะตอนคุณจ่ายค่างวด คนพวกนั้นไม่ได้จ่ายแทนคุณ
ตอนคุณเครียด เพราะไม่มีเงิน คุณพวกนั้นก็ไม่ได้เอาเงินมาให้คุณใช้
ใช้ชีวิตแบบแคร์ตัวเอง ไม่ต้องแคร์ขี้ปากชาวบ้าน มันมีความสุขกว่ากันเยอะเลย
อย่างไรก็ตาม อ่านแล้วนำมาปรับใช้กัน เส้นทางชีวิตแต่ละคนไม่เหมือนกันความสุขของแต่ละคนมันต่างกันความสำเร็จแต่ละคนไม่เหมือนกัน อีกอย่างมันอยู่ที่บริษัทที่เราไปสมัครด้วย ประสบการณ์ด้วยถ้าคุณเก่งจริง ทำงานมานานใครๆก็กล้าจ้าง สุดท้ายจะซื้ออะไรก็เลือกช่วงเวลาที่เหมาะสม ไม่ใช่ซื้อเพียงเพราะจะเอาไปขิงเพื่อนฝูง หรือโอ้อวดกับใคร แต่ยุคนี้ไม่ตกงานก็ถือว่าดีแล้ว สำหรับใครที่ตกงานอยู่ก็ขอให้ สู้ๆครับ
เรียบเรียงโดย : kaijeaw.in.th ขอขอบคุณที่มา : ภาพนี้มีเรื่องเล่า