ทำความรู้จักกับคู่แข่งที่มีพื้นที่ปลูก ทุเรียน ส่งออกเยอะสุดในอาเซียน
แน่นอนว่าเมื่อมีความต้องการสูง คู่แข่งที่ปลูกทุเรียนย่อมเพิ่มตาม ไม่ใช่แค่การขยายพื้นที่ปลูกในประเทศเท่านั้น แต่ภูมิประเทศในเขตอาเซียนนั้นเหมาะกับการปลูกทุเรียนเป็นอย่างมาก
วันนี้ kaijeaw.in.th ขอชวนเพื่อนๆชาวสวนทุเรียนทำความรู้จักทุเรียนในอาเซียนกับคู่แข่งที่มีพื้นที่ปลูกส่งออกเยอะสุดในตอนนี้ โดยเพจ ควายดำทำเกษตร เผยข้อมูลระบุว่า..
ณ เวลานี้ประเทศที่ปลูกทุเรียนเยอะสุด ส่งออกเยอะสุด คงไม่พ้นประเทศไทยบ้านเรา ซึ่งพื้นที่ปลูกที่รู้ล่าสุดเพิ่มขึ้นมาจาก 7 แสนไร่ มาเป็น 1.4 ล้านไร่ในระยะเวลาไม่กี่ปี ซึ่งถือว่าเรายังเป็นเบอร์ 1 เรื่องการส่งออกทุเรียนของโลกอยู่
แต่ปัจจุบันรอบบ้านเราในอาเซียนได้เริ่มมีการขยายพื้นที่ปลูกทุเรียนกันมากขึ้น เดี๋ยวจะมาไล่เรียงตามลำดับดังนี้
1.มาเลเซีย
คู่แข่งเบอร์ 1 ของเราที่พยายามปลูกทุเรียนและมีการวางแผน ตั้งยุทธศาสตร์ชัดเจนในเรื่องทุเรียนนั่นคือ ประเทศ มาเลเซีย
มาเลเซีย หลังจากที่เคยเป็นประเทศที่ปลูกปาล์มน้ำมันเบอร์ 1 ของโลก แต่หลังจากที่มีการเลิกใช้ปาล์มน้ำมันทำให้ราคาปาล์มตกต่ำ จนตอนนี้ประเทศมาเลเซียได้มีการโค่นปาล์มแล้วปลูกทุเรียน โดยพื้นที่ปลูกทุเรียนของมาเลเซียตอนนี้มีอยู่ประมาณ 450,000 ไร่ ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่รัฐปาหัง และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเพราะมีนโยบายขยายพื้นที่ปลูกทุเรียนชัดเจน อีกทั้งเมื่อปี 2562 มาเลเซียยังบรรลุข้อตกลงส่งผลสดแช่แข็งไปจีนได้แล้วด้วย นับเป็นประเทศที่ 2 ต่อจากไทย ซึ่งมาเลเซียนี่แหละคือคู่แข่งของทุเรียนไทยที่น่ากลัวที่สุด เพราะมาเลเซียมีการวางแผนในเรื่องทุเรียนชัดเจนมาก ทั้งการตลาด การส่งเสริมเกษตรกร รวมไปถึงการเข้าไปส่งเสริมตลาดในจีนด้วย
2. ประเทศเวียดนาม
เวียดนามมีพื้นที่ปลูกทุเรียนอยู่ประมาณ 300,000 ไร่ อยู่ทางเวียดนามใต้ใกล้สามเหลี่ยมแม่น้ำโขง ในจังหวัดดองใน และ เบนแตร ซึ่งส่วนใหญ่พันธุ์ที่ปลูกเป็นพันธุ์พื้นเมืองเช่น Ri6 ,Chin Hoa และทางรัฐบาลเวียดนามก็มีการส่งเสริมปลูกทุเรียนหมอนทองของไทยเพื่อการส่งออกเช่นเดียวกัน
3.กัมพูชา
กัมพูชา มีพื้นที่ปลูกทุเรียนประมาณ 50,000 ไร่ ได้ผลผลิต สามหมื่นกว่าตันต่อปี แหล่งปลูกส่วนใหญ่อยู่ทาง กำปอต กำปงจาม และ มณฑลคีรี ซึ่งใน กำปอต เป็นทุเรียนที่มีชื่อเสียงและผลิตมายาวนาน ส่วนใหญ่เป็นรายย่อย แต่ตอนนี้ใน กำปงจาม มีนักลงทุนชาวจีนมาลงทุนปลูกมากขึ้น นับเป็นการลงทุนที่น่าติดตามมากในกัมพูชา
4.เมียนมาร์
สำหรับพื้นที่ปลูกทุเรียนในเมียนมาร์ พื้นที่ดั้งเดิมเลยจะอยู่กระจายไปทั่วประเทศ ในเขตตอนใต้แถบ ทวาย มะริด แต่ในพื้นที่ปลูกส่วนใหญ่จะอยู่ตอนกลางของประเทศในเขตปกครองของรัฐมอญ บริเวณเมือง เมาะลำไย มุตง ต๊าผิวชะยาด ที่เป็นเขตปลูกยางเก่า มีการเข้ามาสัมปทานพื้นที่ของนักลงทุนชาวจีน และมีการลงปลูกทุเรียนใหม่อีกกว่า 20,000 ไร่ ในเขตรัฐมอญ นับว่ามีการขยายพืนที่ปลูกไม่น้อยเลยสำหรับเมียนมาร์
นี่คือเรื่องทุเรียนอาเซียนตอนแรกเป็นเรื่องพื้นที่ปลูกโดยรวมในแต่ละประเทศ จะเห็นได้ว่าส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนจากจีนทั้งนั้นที่มาลงทุนปลูกทุเรียน แสดงให้เห็นว่าในประเทศจีนยังมีความต้องการบริโภคทุเรียนอีกมาก
เดี๋ยวโพสหน้าจะมาว่าด้วยเรื่องข้อเสียเปรียบของประเทศไทย ถ้าวันนึงทุเรียนในอาเซียนพร้อมให้ผลผลิตส่งออกไปจีนได้เหมือนกับเราเราจะเสียเปรียบประเทศรอบบ้านเรายังไง
ขอบคุณข้อมูลจาก ดร.วรชาติ ดุลยเสถียรผู้เชี่ยวชาญโซ่อุปปทานด้านเกษตร CLMV เลขาธิการสมาคมส่งเสริมธุรกิจเกษตรระหว่างประเทศ
เรียบเรียงโดย : kaijeaw.in.th ขอขอบคุณที่มา : สมาคมส่งเสริมธุรกิจเกษตรระหว่างประเทศ,ควายดำทำเกษตร