พ่อแม่มือใหม่ควรรู้ การบดอาหารของลูกแต่ละช่วงวัยมากที่สุด

สำหรับบ้านไหนที่มีลูกน้อยๆ ก็คงจะต้องเหนื่อยกันหน่อยเพื่อลูก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการนอน การเล่น การกินที่ต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ยิ่งเรื่องของอาหารต้องศึกษาและดูให้มากเลยสำหรับคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ วันนี้เราเลยจะพาไปดูสาระน่ารู้เกี่ยวกับเรื่องของการบดอาหารของลูกแต่ละช่วงวัย จากทางด้านเพจ อป ที่รัก ได้โพสต์ระบุว่า ....
การบดอาหารของลูกแต่ละช่วงวัย
การฝึกให้ลูกเคี้ยวอาหาร กว่าที่ลูกน้อยจะสามารถเคี้ยวอาหารต่างๆ ได้คล่อง ต้องอาศัยเวลาในการฝึกพอสมควร เพราะการบดเคี้ยวและกลืนอาหารต้องอาศัยการทำงานประสานกันของอวัยวะในช่องปากหลายส่วน นอกจากนี้การฝึกให้ลูกเคี้ยวจะต้องเริ่มด้วยอาหารที่เหมาะสม และต้องเริ่มในเวลาที่ถูกต้องด้วยถึงจะช่วยให้การฝึกได้ผลดี
- เด็กวัย 6 เดือน #บดละเอียด เพื่อฝึกการเคี้ยวและการกลืน
- เด็กวัย 7 เดือน #บดหรือปั่นหยาบ เนื่องจากวัยนี้ลูกเริ่มเคี้ยวหรือกลืนอาหารได้ดีขึ้น ควรฝึกทักษะการเคี้ยวด้วยอาหารบดหรือปั่นหยาบ
- เด็กวัย 8 เดือน #บดหรือปั่นหยาบหรือสับละเอียด
เนื่องจากกล้ามเนื้อเหงือกของลูกเริ่มแข็งแรงขึ้น การบดเคี้ยวอาหารทำได้มากขึ้น สามารถใช้ Finger Food หรือผักสดหั่นเป็นแท่งให้ลูกกัดเอง เช่น แตงกวา แครอทหั่นแท่งต้มสุก เอามาให้ลูกอม ๆ เคี้ยว ๆ ด้วยเหงือก จะช่วยกระตุ้นประสาทสัมผัสในช่องปากได้ค่ะ
- เด็กวัย 9-12 เดือน #สับชิ้นเล็ก เริ่มทานอาหารได้เหมือนผู้ใหญ่ กรณีไม่สะดวกสับแนะนำข้าวสวยหุงนิ่มหรือข้าวต้มใส่ผักและเนื้อสัตว์สับให้เป็นชิ้นเล็กค่ะ เพื่อให้ลูกได้ใช้ฟันขบกัดเคี้ยวกลืน เพราะพัฒนาการของลิ้นช่วงนี้ดีขึ้น ลูกสามารถใช้ลิ้นตวัดอาหารสู่ช่องปากได้หลายทิศทาง เช่นเดียวกับกรามและขากรรไกรซึ่งขยับบดอาหารไปมาได้คล่อง
- การปรับความละเอียดหยาบของอาหารให้มากขึ้นควรเริ่มทีละเล็กทีละน้อย เพื่อให้ลูกปรับตัว คุ้นเคย ไม่ปฏิเสธ
ทั้งนี้ทั้งนั้นสามารถปรับให้เหมาะสมตามลักษณะการกินของลูก สิ่งสำคัญอาศัยความเข้าใจ อดทน ถ้ารีบร้อนให้อาหารที่หยาบเกินไป ลูกไม่ชอบก็อาจจะทำให้ลูกจำฝังใจ ปฏิเสธอาหารชนิดนั้นได้ค่ะ
- หากลูกยังไม่ยอมเคี้ยวอาหาร หรือเคี้ยวไม่เป็น จะทำให้ลูกขาดสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย ซึ่งจะส่งโดยตรงต่อพัฒนาการด้านร่างกายและสมอง การบดเคี้ยวอาหารจะช่วยให้ขากรรไกร ลิ้น และ กระพุ้งแก้ม ซึ่งเป็นอวัยวะที่ใช้ในการเปล่งเสียงมีความแข็งแรง หากลูกไม่ได้ฝึกการบดเคี้ยว จะทำให้ขากรรไกร ลิ้น กระพุ้งแก้ม ไม่แข็งแรง ซึ่งจะส่งผลต่อพัฒนาการด้านการพูดของลูกด้วยเช่นกันค่ะ
อ้างอิง สมุดบันทึกสุขภาพแม่และเด็ก คู่มืออาหารเสริมตามวัยสำหรับทารกและเด็กเล็ก
เป็นสาระดีๆ ที่คุณพ่อคุณแม่มือใหม่ควรรู้ จะได้จัดอาหารให้กับลูกน้อยให้ได้เหมาะสมกับช่วงวัย นี่ก็เป็นสาระดีๆ ที่นำมาฝากลองไปทำตามกันได้เลยนะครับ
เรียบเรียงโดย : kaijeaw.in.th ขอขอบคุณข้อมูลจาก อป ที่รัก