หนุ่มเผยเคล็ดลับหลังสอบก.พ.ผ่านในครั้งที่2 จากคนไม่มีเวลา-สมาธิสั้น
หลังจากประกาศผลสอบ ก.พ. ภาค ก เชื่อว่ามีทั้งคนผ่านและคนไม่ผ่าน ก่อนอื่นก็ต้องขอแสดงความยินดีกับคนที่ผ่าน แต่สำหรับคนที่ยังไม่ผ่านก็อย่าพึ่งท้อแท้ ไปไหน เพราะวันนี้ kaijeaw.in.th มีเทคนิคดีๆ ในการสอบให้ผ่านในครั้งต่อไป จากประสบการณ์โดยตรงของผู้สมัครสอบผ่าน
อยากให้เพื่อนๆ ลองอ่านรีวิวจาก คุณCheab Shinichi สอบเพียง 2 ครั้งก็ผ่าน ทั้งที่ตนเองเป็นคนสมาธิสั้น-ไม่มีเวลา โดยได้โพสต์ข้อความระบุว่า
การลงมือทำอย่างจริงจัง ตารางอ่านหนังสือ ๒ เดือน ก่อนสอบ : พ.ค.๖๒ - มิ.ย.๖๒, นอนเที่ยงคืน ตื่นตีห้า บ้าอาทิตย์ละวัน
- ปี พ.ศ.๒๕๖๑ : สอบครั้งที่ ๑ ; ลงสนามสอบภาค ก ของ ก.พ. ครั้งแรก ชื่อไปโผล่ที่ โรงเรียนประจำอำเภอ ของ อ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก (อยู่ไหนละเนี่ยรู้จักแต่ในหนังเมื่อสิบกว่าปีก่อน ฮา), เดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ จาก อ.แม่ระมาด จ.ตาก นั่งรถสามต่อ ก่อนถึง บขส.๒ จ.พิษณุโลก โชคดี เพื่อน "บอม" ลาพักกลับบ้านที่ อ.วัดโบสถ์เลยอาสาขี่รถมอเตอร์ไซค์มารับแล้วไปส่งที่ อ.พรหมพิรามและพาหาห้องพัก รวมระยะทางที่ฝากชีวิตไว้หลังเพื่อนบอมก็เกือบร้อยกว่ากิโลฯ (เลยเลี้ยงก๊วยเตี๋ยวเป็ดไปชาม) ที่พักในตัวอำเภอก็หายาก สุดท้ายไปพักห้องพักเก่าๆ โกโรโกโส ห่างจากตัวอำเภอประมาณสิบห้ากิโลฯ ราคาคุยกันได้จ่ายไปสองร้อยบาทถ้วน; พอถึงวันสอบ โทรหาแม่ตามปกติ (ถือเป็นเคล็ด) แล้วเข้าไปสอบด้วยอาการเลิ่กลั่ก ตื่นสนาม เพราะเป็นครั้งแรก, ผลออกมา ความสามารถทั่วไปฯ ตกตามคาด ผ่านเฉพาะ ภาษาอังกฤษ (ภาษาแม่ก็ไม่ปาน ฮา)
ผลจากการสอบครั้งที่ ๑ พ.ศ.๒๕๖๑ : ผ่านแต่ภาษาอังกฤษ (วิชาที่สอบซ่อมได้ตามระเบียบการขณะนั้น)
- ปี พ.ศ.๒๕๖๒ : สอบครั้งที่ ๒ ; หลังจากรู้รายละเอียดของคะแนนจากการสอบครั้งแรก สามารถถอดบทเรียนถึงข้อบกพร่องที่ตัวเองต้องแก้ไขได้คร่าวๆ ว่ามีอะไรบ้าง เช่น เรื่องเวลาในการทำสอบ, ส่วนที่ยังไม่ค่อยเข้าใจ, ส่วนที่ต้องเน้นเก็บคะแนนและปล่อยทิ้ง เป็นต้น ก็คิดหาวิธีแก้ไขเสียใหม่; หลักๆ ที่บอกตัวเองให้เน้นมากๆ คือการมีวินัยกับตัวเอง (ถือเป็นช่วงที่เริ่มไม่มีใครคบละ เพราะ ไม่ค่อยสุงสิงกับใคร ฮา อย่างว่า ได้อย่างก็ต้องเสียอย่าง ฮา) อย่างน้อยถ้าในหนึ่งวันไม่มีเวลาอ่านเลย ก็ต้องได้ดูคลิปฟรีบ้างสักสิบนาทีต่อวัน เพราะโดยจริตแล้ว ไม่ใช่คนหัวดี ออกไปทางเข้าใจยากด้วยซ้ำ ยิ่งเรื่องเลข นี่ยกให้เป็นของขมตลอดกาล เลยเลือกเน้นอ่านแบบเรื่อยๆ วันละนิด ให้ค่อยๆ ซึมเข้าตัว เพราะอ่านติดต่อนนานไม่ได้ เป็นคนสมาธิสั้น อันนี้สำคัญ; พอถึงช่วงเข้าระบบ คือสองเดือนก่อนสอบ จึงทำตารางอ่าน เพื่อให้ตัวเองอ่านเป็นระบบมากขึ้นและได้รู้ด้วยว่าอ่านเรื่องไหน ถึงไหนแล้ว ที่สำคัญ ทำสมุดสรุปเนื้อหาทุกเรื่องไว้ด้วย หนึ่งเล่ม (เอาไว้พกติดตัวเวลาไปไหนมาไหน อยากรู้เรื่องอะไรก็เปิดมาเตือนความจำตัวเองได้)
สนามนี้ คนเก่งถือว่าได้เปรียบ แต่ความขยันและใส่ใจก็สำคัญไม่แพ้กัน; คนจำนวนมากสอบผ่านในรอบเดียว เช่นกัน มีคนจำนวนไม่น้อยผ่านในการสอบรอบที่สิบของตัวเอง (หรือมากกว่า) หลายคนเลือกยอมแพ้และวางมือไป แต่สำหรับคนที่ยังสู้อยู่ เชื่อว่า ถ้าได้สัมผัสความรู้สึกหลังจากสอบผ่าน จะเข้าใจเอง ตอนนี้อาจป็นเวลาของความดีใจ แต่อย่าลืมว่าการก้าวต่อไปสู่ภาค ข ก็สำคัญมาก เพราะ เส้นทางจะเริ่มโหดและหินขึ้นหลายเท่า หากคิดว่ามันเป็นเกมที่ต้องเล่น ก็จงเล่นและสนุกกับมัน พลิกแพลง แก้ไขตามสถานการณ์ แต่ถ้าคิดจะหยุดและพอ ก็ถือว่าเกมของเรามาไกลได้แค่นี้
ฉะนั้น สิ่งต่อไปคือการเตรียมตัว เตรียมใจ เตรียมข้อมูลความรู้ เพื่อให้พร้อมสำหรับการลุยในด่านต่อไป (ภาค ข) นี่จึงเป็นก้าวแรกที่สำคัญ ที่ความพยายามของเรา (ไม่นับสอบ สัสดี กับ ตำรวจ) นำพาให้มันก่อรูปก่อร่างขึ้น ผ่านก่อนได้ไปต่อก่อน คนเก่งยังมีอีกมาก แต่ไม่สำคัญเท่าคนที่ขยันไม่ละความพยายาม ใครไม่อิน ก็ไม่ว่ากัน ทางใครทางมัน สู้ต่อไป เขียนมันไว้ย้ำเตือนตัวเองว่า " เราก็ทำได้ "" เดินแบบหอยทาก ถึงเดินช้า แต่ไม่เคยหยุดเดิน "
| น.ป. ขุนพิเศษ. |
#อย่าใช้คำว่าโง่เป็นข้ออ้างเพื่อไม่ลงมือทำอะไรเลย
ผลจากการสอบครั้งที่ ๒ พ.ศ.๒๕๖๒
การสอบก.พ. ภาค ก ถือว่าเป็นสนามสอบราชการยอดฮิต เพราะนี่คือบันไดขั้นแรกของการบรรจุเป็นข้าราชการ บางคนก็คิดว่าง่าย เพราะเป็นวิชาทั่วไปที่เคยผ่านตามาบ้างแล้วในสมัยมัธยมศึกษา แต่บางคนก็รู้สึกว่าไม่ง่ายเลย เพราะเป็นสิ่งที่ไม่ถนัดมาตลอด เป็นกำลังใจให้นะครับครั้งต่อไปผ่านแน่
เรียบเรียงโดย : kaijeaw.in.th ขอขอบคุณที่มา : Cheab Shinichi