คำศัพท์เมนูกาแฟ ตามราชบัณฑิตยสภาทำสะเทือนสายคาเฟ่
เรียกได้ว่าเป็นเรื่องที่ทำเอาสายคาเฟ่ต่างก็ตกอกตกใจกันเล็กน้อย เมื่อรู้ว่าที่ผ่านมานั้นได้ออกเสียงเรียกเมนูกาแฟ ผิดมาโดยตลอด โดยทางเพจ Thai Guide ภาษาไทยคือของหวาน ได้ออกมาโพสต์แชร์คำศัพท์เมนูเครื่องดื่มและวิธีเรียกชื่อที่ถูกต้องเวลาไปร้านคาเฟ่ ที่ถูกต้องจากหลักราชบัณฑิตยสภา โดยได้ระบุว่า
นำเนื้อหาเก่ามาเสนออีกครั้ง กับคำทับศัพท์ที่ใช้ในคาเฟ่ ซึ่งมักสะกดไม่ตรงตามหลักการทับศัพท์ของราชบัณฑิตยสภา โพสต์นี้แอดนำเสนอในแง่ว่ามันเป็นความรู้ที่หลายคนอาจจะยังไม่รู้ ไม่ได้มีน้ำเสียงชี้นำว่าจะต้องเขียน ต้องสะกด ต้องใช้ตามนี้ เพราะเชื่อว่าทุกคนมีวิจารณญาณและมีเหตุผลในการเลือกใช้ภาษาแต่ละครั้งอยู่แล้ว
ส่วนคำศัพท์ที่นำเสนอ บางคำมาจากภาษาอังกฤษ หลายคนน่าจะคุ้นเคยกับหลักการทับศัพท์อยู่บ้าง แต่สำหรับบางคำที่เห็นว่าแปลก ๆ นั้น เป็นภาษาอื่นที่ไม่ใช่ภาษาอังกฤษ ฉะนั้นหลักการทับศัพท์อาจไม่ได้เหมือนกันเสมอไป สำหรับใครต้องการลองค้นหาเล่น ๆ สามารถเข้าใช้ได้ที่ลิงก์นี้ครับ https://transliteration.orst.go.th/search อนึ่ง ข้อมูลที่นำเสนอในวันนี้ เข้าค้นวันนี้ (8 เมษายน 2565) ถ้าเกิดหลังจากนี้มีข้อมูลบางส่วนในฐานข้อมูลที่เปลี่ยนแปลงไป มันก็จะไม่ตรงกัน ก็ เป็น ได้
สำหรับคำทับศัพท์ในคาเฟ ที่ใช้แบบคนทั่วไป และตามหลักราชบัณฑิตฯ มีดังนี้
คาปูชิโน่ = คัปปุชชีโน
ลาเต้ = ลัตเต
มอคค่า = มอคา
มัคคิอาโต = มัคคียาโต
มัทฉะ = มัตจะ
คาเฟ่ = คาเฟ, แคเฟ
มิลค์ = มิลก์
สมูทตี้ = สมูทที
"ลัตเตมัคคียาโต สั่งกาแฟ หรือสวดมนต์ "
"ส่วนมากเห็นแต่คนบ่นด่า ส่วนตัวคิดว่าดีนะ เอามาให้เห็นแบบนี้ แบบซ้ายคือที่คนไทยคุ้นชิน แบบขวาคือฝรั่งเขาอ่านกัน เผื่อไปพูดกับฝรั่ง จะได้สื่อสารถูกส่วนของไทยที่ใช้อยู่แล้ว เขาก็ไม่ได้บอกว่าจำเป็นต้องเปลี่ยนสักหน่อย.."
"ถ้าผมจะสื่อกับคนทั่วไป ผมจะสะกดในแบบที่คนทั่วไปใช้และคุ้นเคย. แต่ถ้าวันใดผมต้องส่งหนังสือให้ราชบันดีด ผมจะส่งให้พร้อมลัตเต มรรฅคียาโต กับปุฉิโน เอสะเปรตโส เอาให้สำลักกันไปเลยครับ. "
"ใจเย็น ๆ กันดีกว่าครับ ทุกอย่างมันมีเหตุ มีผล มีระบบ ย้ำอีกครั้งว่านี่ไม่ใช่การบังคับ เพราะฉะนั้น ทุกความเห็นที่หยาบคายเกินความพอดี ครั้งนี้แอดไม่ลบหรือซ่อนนะครับ ทุกอย่างที่พิมพ์ล้วนสะท้อนตัวเราทั้งสิ้นครับ"
"มัทฉะ ผมว่าก็เทียบเสียงถูกแล้วนะครับ "cha/茶" มันคือตัวภาษาจีน "ฉา" แต่คนญี่ปุ่นจะมีเสียงสั้นเสียงยาว ซึ่งคำนี้เขาออกเสียงสั้นและออกเสียงก้ำกึ่งระหว่าง ฉ-จ ตามสำเนียงแต่ละพื้นที่ (คล้ายคำว่า go ก็จะมีเสียง ก-ง) แต่ก็เอาที่เราสื่อสารแล้วรู้ว่าเป็นเรื่องเดียวกันละกันครับ"
โดยจากโพสต์นี้ก็มีชาวเน็ตหลายท่านเข้ามาแสดงความคิดเห็นกันอย่างมากมาย หลายท่านบอกว่าไม่คุ้นชินกับ การออกเสียงแบบนี้สักเท่าไหร่ แถมมีคนบอกว่าใครไปสั่งแบบนี้ให้ลองอัดคลิปตอนสั่งมาให้ดูด้วยว่าพนักงานจะตกใจแค่ไหน
ขอขอบคุณที่มาจาก : Thai Guide ภาษาไทยคือของหวาน