ปศุสัตว์ เตือนเมนูไข่จุ๊บไม่สะอาด หวั่นมีเชื้อที่เปลือก
กรมปศุสัตว์ ออกมาแสดงความเป็นห่วงเมนูสุดแปลก "ไข่จุ๊บ" เตือนเปลือกไข่อาจไม่สะอาดตามมาตรฐาน อาจรุนแรงถึงขั้นเข้าโรงพยาบาล แนะรับประทานอาหารปรุงสุกปลอดภัยกว่า
วันที่ 26 เม.ย.2564 สำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์ (สพส.) ประกาศเตือนกินเมนู "ไข่จุ๊บ" โพสต์ข้อความเล่าว่า.."ไข่จุ๊บ" อ่านสักนิด..ก่อนคิดทาน!!
ไข่จุ๊บ คือ เมนูไข่คล้ายๆ ไข่ดาว สั่งปรุงได้ตามร้านขนมโตเกียวหรือโรตีมีทั้งไข่ไก่และไข่นกกระทาโดยมีขั้นตอนการทำดังนี้
1. เจาะไข่เพื่อเอาไข่ขาวออกมา ใส่ลงกระทะอย่าให้ไข่แดงหลุดออกมาจากไข่
2. เอาเปลือกไข่ไปวางบนไข่ขาว ขณะปรุง
3. ให้นำมาการีนที่ทำโรตีมาละลายน้ำมัน และเทลงไปในไข่
4. ใส่ซอสแมกกี้ พริกไทยก่อนเสิร์ฟปักหลอดลงไป ไข่แดงจะไม่สุก ใช้หลอดดูดกิน
ข้อสงสัยว่าเมนูนี้อันตรายหรือไม่?
สพส. จึงขอแนะนำว่า หากพบข้อใดข้อหนึ่งตามนี้ "ไม่ควรรับประทาน"
1. ไม่รู้ ไม่มั่นใจ แหล่งที่มาของไข่
- หากฟาร์มต้นทางของไข่ ไม่มีการควบคุมโรคในไก่/นกกระทาที่ดี ไม่มีการปฏิบัติตามมาตรฐานฟาร์ม GAP นั่นอาจทำให้มีความเสี่ยงที่เชื้อ Salmonella จะปนเปื้อนมาตั้งแต่ระดับฟาร์มโดยติดมาจากมูลที่บริเวณเปลือกหรือมีมาในไข่แดงภายในฟองแต่แรก
- หากทานไข่ไม่สุกได้รับเชื้อ Salmonella เข้าไปจะก่อให้เกิดอาการอาหารเป็นพิษขั้นรุนแรง คลื่นไส้ ไข้ขึ้น อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย จนอาจต้องเข้าโรงพยาบาล
2. ล้าง เช็ด ฆ่าเชื้อเปลือกไข่ไม่สะอาด
- มูลที่ติดมากับเปลือกทั้งสกปรกและอาจมีเชื้อโรคปนเปื้อนอยู่มาก
- เมนูไข่จุ๊บทำการปรุงทั้งเปลือกบนกระทะ หากไม่มีการล้าง เช็ดเปลือกไข่ที่ดีจะได้มูลเป็นของแถมในอาหาร ซึ่งเพียงแค่ล้าง เช็ด จะยังไม่สามารถทำลายเชื้อโรคที่อาจมีได้ ต้องมีการฆ่าเชื้อเปลือกไข่ เช่น การใช้แอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อ หรือการนำไปผ่านแสง UV
3. สุขลักษณะการปรุงไม่เหมาะสม
- ก่อนซื้อต้องเลือกผู้ขายด้วย ดูความสะอาดการแต่งกาย มือและเล็บของผู้ที่ทำอาหาร ความสะอาดอุปกรณ์ปรุงที่ใช้ทั้งกระทะ ตะหลิว วิธีการปรุงรวมทั้งคุณภาพของเครื่องปรุง ความสด ใหม่ สะอาด เพราะสิ่งเหล่านี้แถมเชื้อโรคได้ทั้งสิ้น
4. ไข่จุ๊บที่ไข่ขาวหรือไข่แดงไม่สุก
- การปรุงไข่จุ๊บที่ระดับความสุกของไข่แดงยังเหลวจนใช้หลอดดูดได้นั้น
ไม่เพียงพอที่จะฆ่าเชื้อโรคที่อาจมีได้ หากจะฆ่าเชื้อควรใช้ความร้อนสูงกว่า 70 องศาเซลเซียส เป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 15 วินาที จึงจะปลอดภัยจาก Salmonella และเชื้อก่อโรคอาหารเป็นพิษส่วนใหญ่ได้
- นอกจากนี้ การทานไข่ที่ปรุงไม่สุกจะทำให้ได้รับสารอะวิดิน ซึ่งไปขัดขวางการดูดซึมวิตามินไบโอตินของร่างกาย ทำให้ยิ่งย่อยอาหารยากขึ้น ท้องอืด ปวดท้องต่อได้
สพส. จึงขอฝากให้ผู้ปรุงเน้นทำความสะอาดฆ่าเชื้อเปลือกไข่ ปรุงด้วยสุขลักษณะที่เหมาะสม เน้นการปรุงสุกในยุคโรคระบาด ที่สำคัญเน้นใส่ใจตั้งแต่การเลือกซื้อไข่มาปรุงขาย โดยทั้งผู้ปรุงและผู้บริโภคโดยทั่วไป ให้สังเกตสถานที่จำหน่ายไข่สดที่มีตราสัญลักษณ์ "ปศุสัตว์ OK" ก่อนเลือกซื้อ เนื่องจากมั่นใจได้ว่าไข่ผลิตจากฟาร์มมาตรฐาน GAP 100% แน่นอน
เรียบเรียงโดย : kaijeaw.in.th ขอขอบคุณที่มา : สำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์ -สพส-