ทางลักผ่าน คืออะไร ใครมีหน้าที่ทำเครื่องกั้นในจุดตัด
จากกรณีอุบัติเหตุสะเทือนขวัญ รถไฟขนส่งสินค้าชนกับรถบัสคณะกฐิน บริเวณทางข้ามสถานีรถไฟคลองแขวงกลั่น ต.บางเตย อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา มีผู้เสียชีวิตราว 20 คน และบาดเจ็บจำนวนมาก เบื้องต้นพบว่าจุดที่เกิดอุบัติเหตุนั้นไม่มีเครื่องกั้น เนื่องจากสถานีนี้ไม่ได้ถูกขึ้นทะเบียนให้เป็นจุดตัดที่ต้องมีไม้กั้นนั้น
ล่าสุดเพจ "ทีมพีอาร์การรถไฟแห่งประเทศไทย" เผยข้อมูลเกี่ยวกับจุดตัดทางรถไฟที่เรียกว่า ทางลักผ่าน ซึ่งเป็นจุดตัดทางรถไฟที่มีสถิติเกิดอุบัติเหตุรถไฟชนรถยนต์มากที่สุด
ทางลักผ่าน คือ ทางตัดผ่านทางรถไฟ ที่เป็นทางเข้า-ออกประจำของเอกชนหรือผู้อยู่อาศัยบริเวณนั้นๆ ผู้ทำทางตัดผ่านอาจจะเป็นประชาชนหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล แต่ไม่ได้มีการขออนุญาตทำทางตัดผ่านจากการรถไฟแห่งประเทศไทย หรือไม่ได้รับอนุญาตจากการรถไฟแห่งประเทศไทย จึงเป็นทางตัดผ่านที่ไม่มีการควบคุมด้านความปลอดภัย
ซึ่งในปัจจุบันนี้พบว่ามีจำนวนมากและยากต่อการควบคุมให้อยู่ในมาตรฐานความปลอดภัย
แล้วใครเป็นผู้ที่มีหน้าที่ทำเครื่องกั้นในจุดตัด
คำตอบในเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับว่า การรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นผู้ทำทางรถไฟตัดผ่านถนนหรือที่ดินของบุคคลอื่น หรือในทางตรงกันข้ามบุคคลอื่นทำถนนตัดผ่านทางรถไฟที่มีอยู่แล้ว
ในกรณีแรก หากการรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นผู้ทำทางรถไฟตัดผ่านถนนหรือที่ดินของบุคคลอื่น พระราชบัญญัติจัดวางการรถไฟแลทางหลวงพระพุทธศักราช 2546 กำหนดว่า การรถไฟแห่งประเทศไทยมีอำนาจทำทางผ่านเสมอระดับหรือลอดใต้หรือข้ามที่ดิน ถนน ทางรถราง แม่น้ำหรือลำคลอง และเมื่อทางรถไฟผ่านข้ามถนนสำคัญเสมอระดับ การรถไฟแห่งประเทศไทยต้อง
วางรางคู่กำกับเพื่อให้มีช่องพอครีบล้อรถผ่านไปมาได้ กับให้ทำประตู หรือขึงโซ่ หรือทำราวกั้นขวางถนนหรือทางนั้น ๆ ตามที่เห็นสมควรทำให้เข้าใจได้ว่า เมื่อการรถไฟแห่งประเทศไทยมีหน้าที่จัดทำเรื่องดังกล่าว ความรับผิดชอบในเรื่องค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในการจัดทำจุดตัดทางรถไฟ ย่อมตกเป็นภาระแก่การรถไฟแห่งประเทศไทย
ในกรณีที่ 2 หากบุคคลอื่นเป็นผู้ทำถนนตัดผ่านทางรถไฟที่มีอยู่แล้ว ซึ่งข้อเท็จจริงส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นมักเป็นกรณีที่หน่วยงานราชการบริหารส่วนท้องถิ่นเป็นผู้ทำถนนผ่านทางรถไฟเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในบริเวณนั้น แต่การทำช่นนั้นทำให้เกิดจุดตัดทางรถไฟที่ไม่ได้รับอนุญาตและเกิดอุบัติเหตุเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก
ฉะนั้น ผู้ใช้รถใช้ถนนก็ควรระลึกถึงพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ตามมาตรา 63 ในทางเดินรถตอนใดที่มีทางรถไฟผ่านไม่ว่าจะมีเครื่องหมายระวังรถไฟหรือไม่ ถ้าทางรถไฟนั้นไม่มีสัญญาณระวังรถไฟหรือสิ่งปิดกั้น ผู้ขับขี่ต้องลดความเร็วของรถและหยุดรถห่างจากทางรถไฟในระยะไม่น้อยกว่า 5 เมตร เมื่อเห็นว่าปลอดภัยแล้วจึงจะขับรถผ่านไปได้
เรียบเรียงโดย : kaijeaw.in.th ขอขอบคุณที่มา : ทีมพีอาร์การรถไฟแห่งประเทศไทย