เผยโฉมรถไฟฟ้าไทยสายสีทอง ไร้คนขับเริ่มวิ่งต.ค.63
รถไฟฟ้าสายสีทอง ขบวนแรกมาแล้ว เริ่มวิ่ง ตุลาคม 2563 เป็นรถไฟฟ้าไร้คนขับ เคลื่อนที่คล่องตัว นั่งสบาย เสียงรบกวนต่ำ เชื่อมต่อการเดินทางได้หลายสาย
วานนี้ 18 มิถุนายน 2563 รถไฟฟ้าสายสีทอง รุ่น Bombardier Innovia APM 300 ขบวนแรกของประเทศไทย เดินทางมาถึง ท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี เป็นที่เรียบร้อย โดยมีเจ้าหน้าที่ระดับสูงหลายท่าน ร่วมเป็นเกียรติตรวจรับขบวนรถไฟฟ้า
โดย นายมานิต เตชอภิโชค กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด กล่าวว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีทอง เป็นระบบขนส่งมวลชนขนาดรองที่ กทม. มอบหมายให้บริษัทเป็นผู้ดำเนินการ แบ่งดำเนินการในระยะที่ 1 มีจำนวน 3 สถานี คือ สถานีกรุงธนบุรี (GN1) สถานีเจริญนคร (GN2) และสถานีคลองสาน (GN3) ระยะทาง 1.80 กิโลเมตร เพื่อรองรับการเดินทางของประชาชนในพื้นที่ฝั่งธนบุรี
ขณะนี้มีความก้าวหน้าในภาพรวม 89% โดยในส่วนของการก่อสร้างงานโยธา คืบหน้า 94.42% ส่วนงานระบบเดินรถ คืบหน้า 81% เนื่องจากมีอุปกรณ์ที่ต้องสั่งนำเข้ามาจากต่างประเทศเกิดความล่าช้า จากผลกระทบโรคระบาด แต่ขณะนี้เริ่มคลี่คลาย จึงสามารถเดินหน้าได้อย่างเต็มที่
โดยยังคงเป้าหมายเดิมคือ เปิดเดินรถในเดือนตุลาคม 2563 อัตราค่าโดยสาร 15 บาทตลอดสาย คาดการณ์ปริมาณผู้โดยสารในปีแรก 42,260 เที่ยวต่อคนต่อวัน เชื่อมต่อการเดินทางได้อย่างสะดวก ไม่ว่าจะเป็นระบบรางสายหลักของรถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่สถานีกรุงธนบุรี ผู้โดยสารที่ใช้บัตรแรบบิท สามารถเดินทางเชื่อมต่อไปยังรถไฟฟ้าสายสีทองได้อย่างสะดวกรวดเร็ว
นอกจากนี้ รถไฟฟ้าสายสีทอง ยังเชื่อมต่อกับรถโดยสารประจำทางในพื้นที่ย่านคลองสาน รวมทั้งเชื่อมต่อการเดินทางในเส้นทางเดินเรือแม่น้ำเจ้าพระยา และในอนาคตยังเชื่อมต่อโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงหัวลำโพง-บางบอน-ราษฎร์บูรณะ และรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ อีกด้วย และโครงการนี้ไม่มีการใช้งบประมาณจากทางราชการ เป็นความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชน ซึ่งเป็นประโยชน์แก่รัฐ มีลักษณะคล้ายกับการดำเนินการระบบขนส่งมวลชนบางเส้นทางในประเทศญี่ปุ่น
นายสุมิตร ศรีสันติธรรม ผู้อำนวยการใหญ่สายปฏิบัติการ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า รถไฟฟ้าสายสีทอง ความพิเศษคือ เป็นรถไฟฟ้าไร้คนขับ ขับเคลื่อนอัตโนมัติ ใช้รางนำทาง สามารถจุผู้โดยสาร 138 คนต่อตู้ และ 1 ขบวน สามารถจุผู้โดยสาร 276 คนต่อขบวน รองรับผู้โดยสารได้ 4,200 คนต่อชั่วโมงต่อทิศทาง
รถไฟฟ้ามีความกว้าง 2.8 เมตร ความยาว 12.75 เมตร ความสูง 3.5 เมตร ประตูมีความกว้าง 1.9 เมตร ความสูงของพื้นรถ 1.1 เมตร น้ำหนัก 16,300 กิโลกรัม ก่อให้เกิดเสียงรบกวนต่ำ ความเร็วการทำงานสูงสุดที่ 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
ทั้งนี้ หากเกิดเหตุฉุกเฉินระบบจะทำการหยุดรถอัตโนมัติ และมีรถมารับผู้โดยสารทันที ขณะนี้ได้รับมอบแล้ว 1 ขบวน เหลืออีก 2 ขบวนที่จะทยอยมาภายในเดือนสิงหาคม ซึ่งรถไฟฟ้าสายนี้จะผ่านแหล่งท่องเที่ยวริมแม่น้ำเจ้าพระยา เช่น ไอคอนสยาม และล้ง 1919 เป็นต้น
เรียบเรียงโดย : kaijeaw.in.th ขอขอบคุณที่มา : รถไฟฟ้าบีทีเอส