14 มาตราการสู้โควิด ว่างงานรับเงิน7500/เดือน ขยายเงิน 5000นาน 6เดือน
จากวิกฤติการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 มีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิต เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และสังคม เป็นวงกว้าง ทำให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องออกหลายๆ มาตรการ ในการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ และควบคุมลดความเสี่ยงในการติดเชื้อไม่ให้เพิ่มขึ้น
เริ่มจากมาตรการที่ออกมาในช่วงแรก จนล่าสุดมีมาตรการเพิ่มเติมออกมาในการประชุม ครม.วันที่ 7 เม.ย. โดยอนุมัติมาตรการดูแลและเยียวยา โควิด-19 เฟส 3 วงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท เพื่อการสาธารณสุข ดูแลเศรษฐกิจภายในประเทศ ทั้งภาคการเงิน ภาคธุรกิจ ประชาชน และเกษตรกร
1.มาตรการแจกเงินเยียวยา 5,000 บาท จากเดิมจ่ายเป็นเวลา 3 เดือน (เม.ย.-พ.ค.) หรือคนละ 1.5 หมื่นบาท ขยายเป็น 6 เดือน (เม.ย.-ก.ย.) หรือคนละ 3 หมื่นบาท ลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com
2.เลื่อนการเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 จากวันที่ 16 พ.ค. เป็นวันที่ 1 ก.ค. โดยจะปรับวิธีการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับหลักสูตรที่กำหนดไว้ในแต่ละระดับการศึกษา
3.ลูกจ้างรายได้ประจำ ในระบบประกันสังคม กรณีนายจ้างหยุดกิจการ และถูกเลิกจ้าง ทางประกันสังคมจ่ายชดเชย 50% ของค่าจ้าง หรือไม่เกิน 7,500 บาทต่อเดือน ไม่เกิน 180 วัน และในกรณีหยุดกิจการชั่วคราว จ่าย 50% ไม่เกิน 60 วัน หรือไม่เกิน 7,500 บาทต่อเดือน และกรณีลาออก จ่าย 30% ไม่เกิน 90 วัน หรือ 4,500 บาทต่อเดือน
4.ผู้ประกันตนมาตรา 33 ลดเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม จาก 5% เหลือ 1% และมาตรา 39 ลดจาก 9% เหลือ 7% เป็นเวลา 3 เดือน และขยายเวลาส่งเงินสมบท งวดค่าจ้างเดือน มี.ค.-พ.ค.ออกไป 3 เดือน
5.มาตรการคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้า ให้กับผู้อยู่อาศัยและกิจการขนาดเล็ก ตามขนาดมิเตอร์ไฟฟ้า สูงสุด 3 พันบาท ซึ่งที่ผ่านมาการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เปิดลงทะเบียน ตั้งแต่ 25 มี.ค.ที่ผ่านมา และมาตรการล่าสุดลดค่าไฟฟ้า 3% ระยะเวลา 3 เดือน เริ่มเดือน เม.ย.
6.มาตรการค่าไฟฟ้าฟรีกับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยที่ติดตั้งมิเตอร์ไม่เกิน 5 แอมป์ ทั้งของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) จาก 50 หน่วยต่อเดือน เป็น 90 หน่วยต่อเดือน
7.มาตรการคืนเงินประกันการใช้น้ำประปา ให้กับผู้ใช้น้ำประเภทที่พักอาศัย เปิดลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 15 เม.ย. และเริ่มจ่ายเงินประกันคืนตั้งแต่วันที่ 5 พ.ค. และลดค่าน้ำประปา 3% เป็นเวลา 3 เดือน เริ่มเดือนพ.ค.
8.เลื่อนชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ปีภาษี 2562 จากเดิมขยายถึงวันที่ 30 มิ.ย. มาเป็นวันที่ 31 ส.ค. และเพิ่มสิทธิ์หักภาษีลดหย่อนประกันสุขภาพ จากเดิมไม่เกิน 15,000 บาท มาเป็นไม่เกิน 25,000 บาท
9.ขยายวงเงินคุ้มครองเงินฝากที่ระดับ 5 ล้านบาทไปถึงวันที่ 10 ส.ค. 2564 เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ฝากเงิน และเพิ่มความมั่นคงและรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและระบบสถาบันการเงินในภาพรวม
10.ธนาคารแห่งประเทศไทย สนับสนุนสินเชื่อใหม่ หรือซอฟต์โลน วงเงิน 5 แสนล้านบาท ให้แก่ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ในอัตรา 0.01% ต่อปี ไปปล่อยสินเชื่อใหม่ให้ภาคธุรกิจ โดยเฉพาะ SMEs ซึ่งมีวงเงินสินเชื่อกับธนาคารแต่ละแห่ง ไม่เกิน 500 ล้านบาท ในอัตราดอกเบี้ย 2% ต่อปี โดยไม่คิดดอกเบี้ยในช่วง 6 เดือนแรก
11.ให้ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ สามารถพักชำระหนี้เดิม ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย ให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ที่เป็นลูกหนี้ชั้นดี ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2562 และมีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 100 ล้านบาท เป็นระยะเวลา 6 เดือน เพื่อช่วยให้มีสภาพคล่อง
12.เสริมสภาพคล่อง ดูแลเสถียรภาพตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน โดยจัดตั้งกองทุนเสริมสภาพคล่องตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน เพื่อเป็นแหล่งเงินสำรองชั่วคราว
13.ลดอัตรานำส่งเงินสมทบกองทุนฟื้นฟูฯ จากสถาบันการเงินเป็นการชั่วคราว จากเดิมอัตรา 0.46% เหลือ 0.23% ของฐานเงินฝาก เป็นระยะเวลา 2 ปี เพื่อไปปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพิ่มเติม ให้กับประชาชนและภาคธุรกิจ
14.ธนาคารออมสิน ปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับผู้ประกอบธุรกิจการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน ให้สามารถช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อย โดยการผ่อนปรนเงื่อนไขสินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล ลิสซิ่ง เช่าซื้อ เช่าซื้อรถจักรยานยนต์และสินเชื่อทะเบียนรถ ให้แก่ประชาชน
ทั้งนี้ ยอดผู้ติดเชื้อโควิด19 วันที่ 7 เมษายน 2563 เวลา 11.30 น. พบว่าลดลงจากเดิมมีแนวโน้มที่ดีขึ้น โฆษกศบค. แถลง พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อโคโรนา 2019 เพิ่ม 38 ราย ยอดรวมสะสม 2,258 ราย เสียชีวิตรวม 27 ราย
เรียบเรียงโดย : kaijeaw.in.th ขอขอบคุณที่มา : thairath