อ.เจษฎา เผยวิธียืดอายุหน้ากากอนามัย ใช้ซ้ำป้องกันโควิดได้
อาจารย์เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาโพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัว ในช่วงที่ประเทศเรากำลังเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนหน้ากากอนามัย สำหรับป้องกัน ไวรัสโคโรนา COVID-19
“วิธีการยืดอายุหน้ากากอนามัย”
จริงๆ เมื่อเดือนก่อน เคยโพสต์เรื่องนี้แล้วแต่ลบทิ้งไป เพราะมีเพื่อนหมอเตือนว่าอยากจะให้คนไทยใช้หน้ากากแค่ครั้งเดียว แล้วทิ้งเลย ตามหลักมาตรฐานสากล
แต่หลังจากประเทศไทยเข้าสู่ภาวะขาดแคลนหน้ากากอนามัยขั้นวิกฤต แบบที่ผมไม่เคยเห็นมาก่อนในชีวิต แถมเริ่มมีเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ของโรงพยาบาล เริ่มปรึกษามาด้วยว่า จะทำอย่างไรถึงจะยืดอายุการใช้งานหน้ากากอนามัยของตัวเองได้ … เลยคิดว่า กลับมาโพสต์เรื่องนี้ใหม่ ดีกว่าจะปล่อยให้ทำวิธีที่ผิดๆ กันไป
จากบทความของทางประเทศจีนและของทางไต้หวัน ได้เสนอวิธีการยืดอายุการใช้งานหน้ากากอนามัย ในกรณีที่หน้ากากอนามัยเริ่มขาดแคลน ดังนี้
ที่ #ไต้หวัน นั้น คุณหมอบอกว่าหน้ากากอนามัยสามารถนำมาผ่านการฆ่าเชื้อโรคอย่างเหมาะสมได้ เหมาะกับสถานการณ์ที่ตอนนี้คนกำลังแตกตื่น ทำให้ขาดแคลนหน้ากากอนามัย
คำแนะนำมีดังนี้
1. หน้ากากอนามัย สามารถใช้ไปได้เรื่อยๆ ถ้ามันยังไม่เปียก และไม่ได้ไปใช้ในพื้นที่ที่เสี่ยงติดเชื้อมาก (เช่น โรงพยาบาล) เป็นเวลานานกว่า 4-6 ชั่วโมง
2. ถ้าจะฆ่าเชื้อด้วยการฉายแสงอัลตราไวโอเลต (เช่น บ้านใครมีเครื่องล้างจานแบบที่ใช้แสงยูวีลงไปได้ด้วย) ต้องฉายแสงด้านละ 30 นาที ถึงจะพอต่อการฆ่าเชื้อ หลังจากนั้นให้ไปเก็บในที่ที่สะอาดและแห้งเป็นเวลา 3 วันก่อนจะนำมาใช้ใหม่ (งงเหมือนกัน ว่าทำไมต้องทำอย่างนี้)
3. ใช้แอลกอฮอล์สเปรย์หน้ากากอนามัยทั้ง 2 ด้าน ทิ้งให้แห้ง ก็สามารถใส่ไปได้เรื่อยๆ จนกว่ามันจะเริ่มฉีกขาด หรือปนเปื้อนเชื้อโรค
4. หน้ากากที่ใช้วิธีดังกล่าวนั้น จะมีความสามารถในการกรองได้น้อยลง แต่มันก็ยังใช้ได้อยู่
ส่วน #ประเทศจีน นั้น บอกว่า มีวิธีการฆ่าเชื้อโรคหน้ากากอนามัย อยู่ 5 วิธี คือ
1. ฆ่าเชื้อด้วยการอบแห้ง Oven dry heat disinfection
2. ฆ่าเชื้อด้วยการพ่นแอลกอฮอล์ Alcohol spraying disinfection
3. ฆ่าเชื้อด้วยการนึ่ง Steamer wet heat disinfection
4. ฆ่าเชื้อด้วยอุณหภูมิสูงและแรงดันสูง High temperature and high-pressure disinfection
5. ฆ่าเชื้อด้วยแสงอัลตราไวโอเลต Ultraviolet disinfection
ซึ่งมีข้อสรุปว่า การฆ่าเชื้อแบบอบแห้งนั้น (อบที่ความร้อน 70 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 30 นาที) ทำความเสียหายน้อยที่สุด ให้กับความสามารถในการกรองของหน้ากาก ยังคงความสามารถไว้ที่ 95% ขึ้นไป
ส่วนการพ่นแอลกอฮอล์และการนึ่งฆ่าเชื้อนั้น สามารถทำความเสียหายให้กับการกรองของหน้ากากได้
ขณะที่การฉายแสง UV นั้น ยังไม่มีผลการศึกษาชัดเจนว่า สามารถทำให้ฆ่าเชื้อที่ซ่อนอยู่ในเส้นใยของหน้ากากได้ดีเพียงใด จึงไม่ค่อยแนะนำวิธีนี้
มีวิธีนึงที่แนะนำคือ เอาหน้ากากอนามัยทางการแพทย์นั้น มาใส่ไว้ในถุงซิปล็อค แล้วเป่าด้วยลมร้อนจากที่เป่าผมเป็นเวลานาน 30 นาที ก็สามารถฆ่าเชื้อโรคได้เช่นกัน โดยไม่ค่อยส่งผลเสียต่อความสามารถในการกรองของหน้ากากนัก
ดังนั้น ลองพิจารณากันดูนะครับ ถ้ามีความจำเป็นจะต้องใช้หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ และขาดแคลน หาซื้อใช้ใหม่ไม่ได้จริงๆ
ปล. บางคนอาจจะเห็นคลิปที่เผยแพร่กัน เป็นการทดลองฉีดแอลกอฮอล์ลงไปบนหน้ากากอนามัย แล้วเทน้ำตามลงไป พบว่าน้ำซึมผ่านหน้ากากได้ทันที .. มันเป็นการทดลองที่ไม่ถูกต้องครับ เพราะเขาใช้วิธีการพ่นแอลกอฮอล์ลงไป แล้วเทน้ำตามเลย ซึ่งแอลกอฮอล์เป็นสารที่มีขั้ว ก็จะทำให้น้ำซึ่งเป็นสารที่มีขั้วอ่อนไหลออกผ่านช่องเล็กๆของเส้นใยหน้ากากได้โดยง่าย จริงๆแล้วเขาจะต้องสเปรย์แอลกอฮอล์และทิ้งให้จนแห้งถึงจะมาทดสอบใหม่ ถึงจะดูตามคลิปนี้ก็จะเห็นว่ามันสามารถกลับมาอุ้มน้ำได้เหมือนเดิม ดูตั้งแต่นาทีที่ 2 ครึ่ง
สำหรับโพสต์นี้หวังว่่าจะเป็นประโยชน์อย่างมากในช่วงที่หน้ากากอนามัยขาดแคลนกันอยู่ตอนนี้ หากหาซื้อไม่ได้จริงๆ สามารถใช้วิธีตามที่อาจารย์เจษ แนะนำมาได้นะคะ
ขอขอบคุณที่มาจาก : Jessada Denduangboripant