อนุมัติ 3.6 พันล้านแก้แล้ง หนุนปลูกพืชน้ำน้อย แจกเป็ด-ไก่-ปลา ไปเลี้ยง
ประเทศไทยกำลังเข้าสู่วิกฤตภัยแล้ง ทำให้เกษตรกรหลายๆพื้นที่ประสบปัญหาในการปลูกพืชผัก โดยล่าสุด น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติโครงการตามแผนปฏิบัติการฟื้นฟูเยียวยาเกษตรกรผู้ประสบภัยฝนทิ้งช่วงและอุทกภัย ปี 2562 วงเงิน 3,120.86 ล้านบาท เป็นการดูแลเกษตรกรต่อเนื่อง หลังจากรัฐบาลได้เยียวยาเกษตรกรทั้งหมด 538,316 ราย ในพื้นที่ฝนทิ้งช่วง 19 จังหวัด และอุทกภัย 30 จังหวัด หลังจากก่อนหน้านี้ครม.ได้อนุมัติโครงการและเปิดรับสมัครผู้สนใจเข้าร่วมโครงการ จึงทำให้รู้ปริมาณและความต้องการของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการไม่ได้เป็นไปตามที่รัฐบาลตั้งเป้าไว้ จึงให้มีการถัวจ่ายงบประมาณระหว่างโครงการ
ทั้งนี้ งบประมาณทั้งหมดที่ ครม.อนุมัติ จะนำไปดำเนินการเพื่อฟื้นฟูเกษตรกร 5 โครงการ ดังนี้คือ
1. โครงการส่งเสริมการปลูกพืชใช้น้ำน้อยเพื่อสร้างรายได้แก่เกษตรกร วงเงิน 347.52 ล้านบาท รับผิดชอบโดยกรมส่งเสริมการเกษตร ตั้งเป้ามีเกษตรกรเข้าร่วม 150,000 ครัวเรือน พื้นที่รวม 1.4 ล้านไร่ โดยสนับสนุนเงินโอนเข้าบัญชีเกษตรกร เพื่อซื้อเมล็ดพันธ์ตามพื้นที่ปลูกจริง แบ่งเป็น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เป้าหมายเกษตรกรจำนวน 100,000 ครัวเรือน รายละไม่เกิน 20 ไร่ อัตราไร่ละ 245 บาท ครัวเรือนละ 4,900 บาท พื้นที่รวม 1 ล้านไร่, ถั่วเขียว เป้าหมายเกษตรกรจำนวน 50,000 ราย รายละไม่เกิน 20 ไร่ อัตราไร่ละ 200 บาท ครัวเรือนละ 4,000 บาท พื้นที่รวม 4 แสนไร่
2. โครงการรักษาระดับปริมาณและคุณภาพข้าว ปี 2563/64 วงเงิน 1,739.43 ล้านบาท รับผิดชอบโดยกรมการข้าว ตั้งเป้ามีเกษตรกรเข้าร่วม 827,000 ครัวเรือน เมล็ดพันธุ์ข้าว 63,200 ตัน พื้นที่รวม 6.32 ล้านไร่ โดยสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ข้าวแก่เกษตรกร ไร่ละ 10 กิโลกรัมไม่เกินครัวเรือนละ 10 ไร่
3. โครงการพัฒนาทางเลือกอาชีพด้านประมง การเลี้ยงปลานิลแปลงเพศในบ่อดิน วงเงิน 260 ล้านบาท รับผิดชอบโดยกรมประมง ตั้งเป้ามีเกษตรเข้าร่วม 50,000 ราย โดยสนับสนุนพันธุ์ปลานิล ขนาดประมาณ 5-7 เซ็นติเมตรขึ้นไป รายละ 800 ตัว และอาหารสัตว์น้ำนำร่อง จำนวน 120 กิโลกรัม ให้แก่เกษตรกร
4. โครงการสร้างรายได้จากอาชีพประมงในแหล่งน้ำชุมชน วงเงิน 506.91 ล้านบาท รับผิดชอบโดยกรมประมง ตั้งเป้าแหล่งน้ำในชุมชน จำนวน 1,436 แห่ง ในพื้นที่ 129 อำเภอ โดยสนับสนุนลูกพันธุ์กุ้งก้ามกรามนำไปปล่อยในแหล่งน้ำของชุมชน ขนาดลูกพันธุ์ประมาณ 5-7 เซนติเมตรขึ้นไป จำนวน 200,00 ตัวต่อแหล่งน้ำ
5. โครงการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ปีก วงเงิน 240 ล้านบาท รับผิดชอบโดยกรมปศุสัตว์ ตั้งเป้ามีเกษตรเข้าร่วม 48,000 ราย โดยสนับสนุนเงินโอนเข้าบัญชีเกษตรกร เพื่อซื้อพันธุ์ไก่ไข่ เป็ดไข่ ครัวเรือนละ 10 ตัว และไก่พื้นเมืองคละเพศ ครัวเรือนละ 30 ตัว พร้อมอาหารและค่าวัสดุ ครัวเรือนละ 4,850 บาท
นอกจากนี้ ครม. ยังอนุมัติโครงการสนับสนุนเงินทุนเพื่อสร้างระบบน้ำในไร่นาของสมาชิกสถาบันเกษตรกร ระยะที่ 2 วงเงิน 508.2 ล้านบาท เกษตรกรกู้ยืมรายละไม่เกิน 50,000 บาท ระยะเวลากุ้ยืม 6 ปี เพื่อขุดสระเก็บน้ำ หรือเจาะบ่อบาดาล ตั้งเป้าหมายจะมีสมาชิกเข้าร่วม 10,000 ราย เป็นสถาบันเกษตรกร 350 แห่ง ใน 51 จังหวัด โดยเกษตรกร 2 ปีแรก (ปี 2563-2564) เป็นระยะเวลาปลอดหนี้ จะเริ่มชำระเงินงวดที่ 1 ในปี 2565 ไปจนถึงปี 2568 รวม 4 ปี ปีละอย่างน้อย 25% ของเงินกู้ยืมที่ได้รับอนุมัติ หากสมาชิก/สถาบันเกษตรกรผิดนัดชำระหนี้ จะต้องจ่ายดอกเบี้ยในอัตราดอกเบี้ยปรับ 3% ต่อปี จนกว่าจะชำระหนี้หมด
นับว่าเป็นอีกหนึ่งข่าวดีสำหรับชาวเกษตรกรจริงๆ เพราะทางรัฐบาลไม่ได้เพิกเฉยต่อปัญหาของพี่น้องชาวเกษตรกร และหวังว่าทุกๆท่านจะสามารถข้ามผ่านปัญหาวิกฤตภัยแล้งในปีนี้ไปให้ได้นะคะ
ขอขอบคุณที่มาจาก : khaosod.co.th