วิกฤตคนกรุงฯ ไม่สวมหน้ากากกันฝุ่น เลือกใช้ให้เหมาะกับสถานการณ์
เป็นเรื่องที่หลายคนกำลังให้ความสนใจเลยทีเดียวค่ะ สำหรับสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ในกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ซึ่งตอนนี้ค่าฝุ่นสูงขึ้นมาก จนท้องฟ้ากลายเป็นสีเทา แต่คนกรุงฯกลับตื่นตัวน้อยลง เหมือนจะชินกับสถานการณ์นี้ไปเสียแล้ว
ล่าสุด เฟซบุ๊กเพจ ภูมิแพ้แก้ได้ Allergic March ได้ออกมาให้ความรู้ ในการเลือกหน้ากากอนามัยให้ได้ผลดี สามารถป้องกันฝุ่น PM2.5 ได้ โดยได้ระบุว่า
""วิกฤตที่น่าเป็นห่วงของ ชาว กทม" แอดพบว่าชาวกรุงเทพ สวมหน้ากากกันน้อยมาก ! ทั้งที่ปีนี้สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ช่วงพีคแย่กว่าปีก่อน ขอความร่วมมือช่วยกัน "แชร์บทความนี้" ออกไปให้มากที่สุด เพื่อกระจายความรู้ที่ถูกต้องนะครับ
อุปกรณ์ที่ช่วยป้องกันฝุ่น PM2.5
มีอุปกรณ์หลากหลายที่พยายามทำการตลาด เพื่อโฆษณาว่าป้องกันฝุ่น PM2.5 ได้ แต่บางครั้งอาจไม่ได้ผลในชีวิตจริง และบางครั้งมีการตลาดที่สนับสนุนสกู๊ปความรู้โดยผนวก (tie in) กับโฆษณาแบบเนียนๆ
แอดขอสรุปสั้นๆ ดังนี้
- การเลือกหน้ากากป้องกันฝุ่น ควรคำนึงถึง 3 ปัจจัย คือ
1. ประสิทธิภาพการกรอง
2. การรั่วของอากาศ
3. ความสบายของผู้ใส่
ดังนั้น
หน้ากากที่ช่วยกันฝุ่น PM2.5 ได้ดี เหมาะสมราคา และใช้ได้ในชีวิตจริง คือ "หน้ากาก N95 หรือใกล้เคียง ที่สวมใส่ได้แนบสนิทพอดีกับใบหน้า" (หากมีวาล์วหายใจออก (exhale valve) เพื่อทำให้รู้สึกสบายตอนสวมด้วยก็ดี)
ข้างกล่องอาจแนะนำให้เปลี่ยนทุกวัน แต่นั่นหมายถึงคนที่ทำงานในโรงงานที่ได้รับมลพิษระดับสูง (high dose)
การใส่ป้องกันมลพิษนอกบ้าน หน้ากาก N95 1 ชิ้น สามารถใส่ได้นานเกือบสัปดาห์นะครับ ยกเว้น หากเปียกน้ำหรือดำมาก ก็ควรเปลี่ยนเลย
- หน้ากากอนามัย สีเขียว สีดำที่แพทย์หรือพยาบาลใช้เวลาทำหัตถการนั้น ประสิทธิภาพการกรองฝุ่นไม่เพียงพอ
อีกทั้งยังมีลมหลุดรั่วเข้ามากระจาย แต่กรณีที่ไม่มี N95 จริง การใส่ก็ดีกว่าไม่ใส่อะไรเลย ทั้งนี้ควรเลี่ยงอยู่นอกอาคารในช่วงที่ฝุ่นมีระดับสูง
- เครื่องฟอกอากาศแบบพกพา คล้องคอ (wearable air purifier) ที่ใช้วิธีการยิงประจุไปรอบศีรษะ ไม่ได้ผลในชีวิตจริงครับ ข้อมูลมีประโยชน์แค่ในระดับห้องทดลอง และสภาวะที่ความเร็วลมไม่มาก จึงไม่เหมาะสมกับระดับฝุ่นที่สูงอย่างในประเทศไทย และไม่สามารถใช้ทดแทนหน้ากาก N95 ได้
- หน้ากากที่ดูใส่สบายผิดปกติ โดยอ้างอิงจากประสิทธิภาพการกรองสูงๆเพียงอย่างเดียว ต้องระวังว่ามันไม่ได้ผลในชีวิตจริงนะครับ เพราะมักจะมีช่องรั่วอยู่บริเวณด้านข้างจมูก
สรุปแล้ว การเลือกซื้ออุปกรณ์ป้องกันฝุ่น PM2.5 ต้องดูทั้ง 3 ปัจจัยร่วมกัน คือ "ประสิทธิภาพการกรอง การรั่วของอากาศ และความสบายของผู้ใส่" หากลูกเพจใส่ได้แป๊ปเดียวแล้วต้องถอด แสดงว่าเราอาจจะเลือกหน้ากากไม่เหมาะกับเราเข้าแล้วครับ
สรุปคำแนะนำการป้องกันฝุ่น PM2.5
- อยู่ภายในอาคารที่มีระบบไหลเวียนอากาศที่ดี
- สวมหน้ากาก N95 ก่อนออกจากบ้าน
- เลี่ยงการออกกำลังกายกลางแจ้ง
- เปิดเครื่องฟอกอากาศช่วยได้ ในกรณีมีผู้- ป่วยกลุ่มเสี่ยง
- คนไข้ภูมิแพ้หรือโรคปอดควรใช้ยาสม่ำเสมอ
- หากมีอาการผิดปกติควรพบแพทย์ก่อนนัด
สิ่งที่ต้องระวังในช่วงนี้
1. โรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจ ผื่นผิวหนังอักเสบอาจกำเริบได้ ไม่ควรขาดยา หรือหยุดยาช่วงนี้
2. โฆษณาให้เจาะเลือดตรวจภูมิแพ้แฝงจะโปรโมทช่วงนี้บ่อยขึ้นใน social media ซึ่งยังไม่แนะนำ เพราะไม่เกิดประโยชน์จริงและราคาแพงครับ
3. โฆษณาอาหารเสริม บำรุงภูมิแพ้ส่วนใหญ่มักโปรโมทช่วงนี้ ซึ่งยังไม่สามารถทดแทนการรักษามาตรฐานที่ตรงจุดได้ครับ"
ตอนนี้สถานการณ์ฝุ่นกำลังอยู่ในจุดที่รุนแรงมาก การป้องกันตนเองจากฝุ่นพิษเป็นสิ่งที่เราไม่ควรมองข้าม และควรใช้หน้ากากอนามัยให้เหมาะสมด้วยค่ะ
เรียบเรียงเนื้อหาโดย : kaijeaw.in.th, ขอขอบคุณที่มาจาก : ภูมิแพ้แก้ได้ Allergic march