ป้าบุรีรัมย์ ค้ำรถจยย.ให้เพื่อนบ้านจนเสียบ้านและที่ดิน
จากกรณีของคุณป้าชาวบุรีรัมย์ ที่ค้ำประกันซื้อรถจักรยานยนต์ให้ลูกชายของเพื่อบ้าน แต่ผู้ซื้อผ่อนชำระไม่ครบ ทำให้ผู้ค้ำถูกยึกทรัพย์ขายทอดตลาด ล่าสุดทางเฟซบุ๊ก มนตรี อุดมพงษ์ นักข่าวชื่อดังได้ออกมาโพสต์ถึงเรื่องนี้ระบุว่า
"กรณีป้าบุรีรัมย์ ค้ำรถจยย. ให้ลูกชายเพื่อนบ้าน แต่เบี้ยวหนี้ 8 หมื่น แต่ป้าถูกฟ้องเสียบ้านและที่ดิน 13 ไร่"
ถ้าว่ากันตามตัวบทกฎหมาย"ทนายความ ที่ซื้อทรัพย์ คือบ้าน และที่ดิน รวม 13 ไร่ ของป้าชาวบุรีรัมย์ ด้วยเงิน 3 แสน 4 หมื่นบาท และรับภาระหนี้ ธกส. อีก 8 แสนบาทนั้น ถือว่า ไม่ผิดกฎหมาย " แต่เรื่องนี้ มีบทเรียน ช่องว่างอยู่มาก ที่ป้าวัฒนา เสียรู้ เสียใจ คือ ป้าค้ำประกันให้เพื่อนบ้าน(ที่ไม่ค่อยจริงใจนัก) จนเป็นหนี้ 8 หมื่นบาท พอถูกฟ้อง เพื่อนบ้านก็นำเอกสารมาให้ป้า เซ็นอีก เพื่อมอบอำนาจ ไปไกล่เกลี่ย คนซื้อรถ ไม่มีทรัพย์ให้ยึด ซึ่งเจ้าตัวย่อมรู้แก่ใจ และย่อมรู้แก่ใจอีก ว่าป้าคนค้ำประกัน มีทรัพย์ การที่คนซื้อรถ ได้อำนาจจากป้า ไปเจรจาไกล่เกลี่ย จึงนับว่า ได้โอกาสดีจากป้า ..ซึ่งโอกาสนี้ คาบเกี่ยว หรือมีเส้นบางๆ ระหว่างโอกาส กับฉวยโอกาส
ปรากฎว่าการไกล่เกลี่ยบอกว่า จะทะยอยใช้หนี้ 8 หมื่นบาท ภายใน 24 งวด และในการไกล่เกลี่ยนั้น มีคำพิพากษาศาลมาแล้วว่า ต้องดำเนินการตามนี้ หากผิดนั้น จำเลยที่ 1 คือคนซ์ื้อ จำเลยที่ 2 คือป้า ที่เป็นคนค้ำ ต้องถูกยึดทรัพย์ และหากป้าคนค้ำ ไม่พอใจต่อคำพิพากษาของการไกล่เกลี่ยะนี้ ก็ต้องคัดค้านภายใน 1 เดือน นับจากวันที่พิพากษา ปัญหาคือว่า คนซื้อรถ เมื่อได้คำพิพากษา และไกล่เกลี่ยมาแล้ว ก็มาบอกป้าว่า "ป้า ไปไกล่เกลี่ยมาแล้วนะคร้าาาาา ป้าไม่ต้องห่วงนะคร้าาาาา ดิฉัน กับลูกจะรับผิดชอบเอง เรียบร้อยแล้วค่ะ" การพูดเช่นนี้ ทำให้ป้า ซึ่งปกติไว้ใจ เชื่อใจ ยิ่งไม่กังวลใจ คือไม่ทราบข้อมูลการไกล่เกลี่ยวตกลงกัน ไม่ทราบเงื่อนไขว่าถ้า เขาไม่จ่ายหนี้ที่เหลือใน 24 งวด จะถูกยึดทรัพย์ ข้อมูลเหล่านี้ป้าไม่รู้เลย บทเรียนแท้ๆ!!!!!
ดังนั้น เมื่อป้าไม่รู้ จึงไม่ได้อุทธรณ์คำพิพากษานั้นภายใน 1 เดือน เท่ากับยอมรับว่าจะต้องทำตาม และเมื่อเวลาผ่านไป 7 เดือน จำเลยที่1 คือคนซื้อรถ จ่ายหนี้ไม่ได้ คำพิพากษายึดทรัพย์ป้า จึงมีผลทันที ทนายความของร้านจยย. จึงขอหมายบังคับคดี เพื่อให้ยึดทรัพย์ป้า !!! ซึ่งไม่มีอะไรผิดขั้นตอนกฎหมายเลย แต่ป้าจะรู้เท่าทันหรือไม่ ...นี่คือสิ่งที่น่ากังวล
ทีนี้ เพื่อศาลมีคำสั่งถึงบังคับคดี ทนายก็ไปตามสืบ พบว่า จำเลยที่ 1 ไม่มีทรัพย์สิน แต่จำเลยที่ 2คือป้า มีที่ดิน 13 ไร่ จำนองกับ ธกส. ติดหนี้ 8 แสนบาท ทนายก็บอก บังคับคดีว่า ป้ามีทรัพย์ จึงนำสำเนาโฉนดที่ดินป้ามาขายทอดตลาด การขายทอดตลาด มีกำหนด 4 ครั้ง เพื่อว่า หากขายครั้งที่ 1ไม่ได้ ก็จะเปิดขายอีก 3ครั้งที่เหลือ แต่หากขายได้ตั้งแต่ครั้งแรก ก็ตกเป็นของผู้ซื้อ ป้าต้องไปคัดค้าน ไปแสดงสิทธิ์ หรือป้ามีสิทธิ์ นำเงินไปประมูลซื้อคืนก็ได้ อันที่จริง ถ้ามีนักกฎหมาย หรือคนบอกข้อมูล หรือทนายเองมีใจเป็นธรรม บอกกับป้าว่า "ป้า...หาเงิน 8 หมื่น มาคืนร้าน จยย.เสียเถิด ป้าจะได้ไม่ต้องเสียที่ดินกับบ้าน 13 ไร่ .." แต่นี่ ป้าไม่รู้ ไม่มีใครบอก
ดังนั้น ป้าไม่มีเงิน 8 หมื่นไปใช้หนี้ และป้าไม่มีเงินไปประมูลซื้อ ที่ดิน 13 ไร่ บ้าน 1หลัง (และอีก 5 หลังที่เพื่อนบ้านมาซื้อที่บ้านโดยไม่ได้แยกโฉนด) จึงถูกประมูลซ้อ ในราคา 3 แสน 4 หมื่นบาท ทันทีตั้งแต่การประมูลขายครั้งแรก และผู้ประมูลซื้อคือ ทนายความ ของร้านจยย.นั่นเอง ตอนนี้เงินค่าที่ดิน 3 แสน 4 หมื่น ถูกแบ่งไปใช้หนี้ให้ร้าน จยย. ส่วนเงินที่เหลือ จะคืนให้ป้า ซึ่งยังอยู่ที่สำนักงานบังคับคดี หากป้าไม่ไปรับภายใน5 ปีจะตกเป็นของแผ่นดิน เห็นอะไรไหมครับ.......ในข้อเท็จจริงเหล่านี้
ล่าสุด ที่ดินถูกโอนเป็นของทนายแล้วโดยชอบ เพราะทนายซื้อตามกฎหมาย แต่ป้า ไม่มีที่อยู่ จึงอาศัยในที่เดิม ทนายคนนี้ ก็ฟ้องแพ่ง ขับไล่ป้า ให้ออกจากที่ พร้อมเรียกค่าเสียหายอีก 3 แสนบาท จะขึ้นศาล 27 มกราคมนี้ ทำให้ป้า เสียที่ดิน เสียบ้าน เมื่อยังอยู่ ก็ถูกฟ้องขับไล่อีก ซ้ำร้ายกว่านี้ เพื่อนบ้านที่ซื้อที่ดินป้าไว้ตั้งแต่10 ปีก่อน แต่ยังไม่ได้แยกโฉนด ก็จ้างทนายคนอื่น ฟ้องป้า /ฟ้องร้านจยย. และฟ้อง ทนายคนที่มาซื้อที่ดินแปลงนี้อีกว่า "ร่วมกันฉ้อโกง กรณีที่ดินแปลงนี้" โดยเพื่อนบ้านบอกว่า "ไหนป้าบอกจะไม่ขายที่ดินไง โฉนดก็ยังไม่ได้โอน " ป้าก็ได้แต่บอกว่า "ป้าไม่ได้ขาย ป้าถูกยึดทรัพย์ และขายทอดตลาดไปแล้ว"
เห็นอะไรไหมครับ ถ้าป้ามีโอกาสได้ความรู้ หรือคำแนะนำจากใครสักคน หรือใครสักคนที่มีความรู้ทางกฎหมาย แล้วมีน้ำใจบอกว่า "ป้า มันมีทางออกแบบนี้นะ หรือแบบนั้นนะ หาเงินมา 8 หมื่น ดีกว่า เสียที่ดิน 13 ไร่นะป้า" อะไรทำนองนี้ ป้าคงไม่ตกอยู่ในสภาวะเช่นนี้ นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นเกิดกับป้า วัฒนา ดงงาม ณ บ้านสายโท 2 ใต้ อ.บ้านกรวด จ.บุรีรัมย์
โดยจากเรื่องนี้ก็อยากจะฝากเพื่อเป็นอุทาหรณ์หากจะไปเซ็นค้ำประกันให้ใคร แม้แต่เพื่อนบ้าน หรือคนใกล้ตัวที่รู้จักกันมานานก็ไม่ควรไว้ใจ เพราะอาจจะมีชะตากรรมอย่างที่คุณป้าท่านนี้เป็นอยู่ก็เป็นได้
ขอขอบคุณที่มาจาก : มนตรี อุดมพงษ์