น้ำประปาเค็มเกินมาตรฐาน แนะช่วงนี้ควรเลี่ยงใช้น้ำทำอาหาร
![](https://kaijeaw.in.th/wp-content/uploads/2020/01/น้ำประปาเค็ม-1-1024x512.jpg)
จากกรณีที่ทางเพจ เฟซบุ๊ก รศ.ดร. เสรี ศุภราทิตย์ อดีตผู้ว่าการประปาส่วนภูมิภาค ได้โพสต์ข้อความ ระบุว่า เรียนทุกท่านในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล เพื่อเป็นข้อมูล ตั้งแต่วันปีใหม่ที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ (3 มกราคม) คุณภาพน้ำดิบที่สถานีสำแล และรวมทั้งคุณภาพน้ำดิบที่โรงกรองบางเขน เกินมาตรฐานความเค็มทุกวัน (> 0.25 กรัมต่อลิตร) ซึ่งจะทำให้รสชาติน้ำกร่อยๆ จะเป็นอันตรายต่อผู้ป่วย หรือผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่นโรคไต โรคหัวใจ เบาหวาน ความดัน ผู้สูงอายุ และเด็กเล็ก (ตามประกาศของ กปน.)
โรงผลิตน้ำบางเขน เป็นโรงผลิตที่มีกำลังการผลิตมากที่สุด ประมาณ 4-5 ล้าน ลูกบาตรเมตรต่อวัน และไม่มีระบบกรองความเค็ม ชาว กทม.ส่วนใหญ่ใช้น้ำอุปโภค และบริโภคจากโรงผลิตนี้ ดังนั้นจึงควรใช้ความระมัดระวัง และติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ตามที่ผมเคยเรียนเตือนมายังทุกท่าน เขามาแล้ว "ภัยแล้งกำลังสุกงอม" นี่เป็นเพียงการเริ่มต้นเท่านั้นครับ ช่วงแล้งวิกฤติยังมาไม่ถึง
ข้อมูลการตรวจวัดคุณภาพน้ำ
นอกจากนี้นายชัยวัฒน์ วรพิบูลพงศ์ ผู้เชี่ยวชาญการประปานครหลวง ระดับ 10 ยังบอกอีกด้วยว่า สถานการณ์น้ำประปากร่อย หรือน้ำประปาเค็ม จะอยู่ยาวไปจนถึงประมาณเดือนพฤษภาคม 2563 เพราะ น้ำเขื่อนเหลือน้อย ต้องแบ่งปันใช้งานทุกภาคส่วน ทั้งเกษตรกรรม อุตสาหกรรม ขอให้ ช่วยกันอดทน ปรับตัว ร่วมกันฝ่าฟัน แบ่งปันการใช้น้ำ ให้พ้นวิกฤตนี้
ด้าน นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่านายกรัฐมนตรี ห่วงใยประชาชน ที่บริโภคน้ำประปาในช่วงนี้ที่มีรสผิดปกติและมีกลุ่มเสี่ยงต่อสุขภาพหากบริโภคน้ำประปา โดยการประปานครหลวง (กปน.) รายงานเรื่องคุณภาพน้ำที่มีรสผิดปกติว่า ขณะนี้แหล่งน้ำดิบที่ใช้ผลิตน้ำประปาจากโรงงานผลิตน้ำที่รับน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งปริมาณน้ำต้นทุนเหลือน้อยมากเมื่อเทียบกับหลาย ๆ ปีที่ผ่านมา ซึ่งการประปานครหลวงได้ร่วมมือกับกรมชลประทานเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอยู่ โดยการประปานครหลวงเอง พยายามสูบน้ำดิบในช่วงเวลาที่น้ำทะเลหนุนให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้
ทั้งนี้ หน่วยความเค็มเป็นหน่วย gram/liter ค่าที่เกิน 0.3g/l หรือ 300 ppm. จะเริ่มเป็นน้ำกร่อย (มาตรฐานน้ำดื่ม องค์การอนามัยโลก : WHO) โดยผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงคือ คนเป็นโรคไต หัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ผู้สูงอายุ และเด็กเล็ก ควรหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำประปาช่วงนี้ และแนะนำให้ใช้น้ำกรองผ่านระบบ RO ด้วย รวมทั้ง นอกจากนี้ ควรลดการเติมเครื่องปรุงรสให้น้อยลงในการใช้น้ำเพื่อปรุงอาหารอีกด้วย ประชาชนสามารถติดตามข้อมูลคุณภาพน้ำประปาออนไลน์แบบเรียลไทม์ได้ด้วยตนเองทางเว็บไซต์ของการประปานครหลวง ที่แสดงคุณภาพน้ำแบบ realtime
ยังไงช่วงนี้ก็อยากจะให้ทุกท่านหลลีกเลี่ยงการดื่มน้ำประปา หรือนำเอาน้ำประปามาประกอบอาหาร โดยเฉพะผู้ป่วย หรือเด็กๆ เพราะอาจจะส่งผลกระทบกับสุขภาพได้ และหวังว่าทางรัฐบาลจะแก้ปัญหานี้ได้โดยเร็วที่สุด
ขอขอบคุณที่มาจาก : one31.net , Chaiwat Vorapeboonpong , รศ. ดร. เสรี ศุภราทิตย์