เวียนมาอีกครั้ง วันเหมายัน ตะวันอ้อมข้าว 22 ธ.ค.นี้ กลางคืนยาวสุดในรอบปี
ก่อนหน้านี้ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ได้ออกมาเผยเรื่องราวดีๆ เกี่ยวกับปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ ที่ในเดือน ธ.ค. นี้ จะมีปรากฏการณ์มากมาย ทิ้งท้ายปี 2019 ให้ได้ชมกับความสวยงาม แปลกตาของปรากฏการณ์ต่างๆ
ล่าสุด เฟซบุ๊กแฟนเพจ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ Fan Page ได้ออกมาเผยว่า ในวันที่ 22 ธ.ค. 62 นี้ จะมีปรากฏการณ์กลางวันสั้น กลางคืนยาว มากที่สุดในรอบปี โดยได้ระบุว่า
"#กลางคืนยาว #กลางวันสั้น #เวียนมาอีกครั้ง 22 ธันวาคม 2562 เป็นวันเหมายัน (เห-มา-ยัน) #ตะวันอ้อมข้าว #กลางคืนยาวนานที่สุดในรอบปี
ในแต่ละวันดวงอาทิตย์จะปรากฏตำแหน่งต่างกันไป เปลี่ยนแปลงประมาณวันละ 1 องศา วันที่ 22 ธันวาคมที่จะถึงนี้ ดวงอาทิตย์จะขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงไปทางใต้มากที่สุด และตกทางทิศตะวันตกเฉียงไปทางใต้มากที่สุด ส่งผลให้ช่วงกลางวันสั้นและช่วงกลางคืนยาวนานที่สุดในรอบปี ภาษาสันสกฤตเรียกว่า "วันเหมายัน (เห-มา-ยัน) (Winter Solstice) ประเทศไทยจะเรียกว่า "ตะวันอ้อมข้าว"
วันดังกล่าวดวงอาทิตย์จะขึ้นเวลาประมาณ 06:36 น. และจะตกลับขอบฟ้า เวลาประมาณ 17:55 น. (เวลา ณ กรุงเทพฯ) รวมระยะเวลากลางวันเพียง 11 ชั่วโมง 19 นาทีเท่านั้น ท้องฟ้าจะมืดเร็วกว่าช่วงเวลาอื่นๆ ของปี ประเทศทางซีกโลกเหนือนับเป็นวันที่ย่างเข้าสู่ฤดูหนาว ส่วนประเทศทางซีกโลกใต้นับเป็นวันที่ย่างเข้าสู่ฤดูร้อน
โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์เป็นวงรี ในรอบหนึ่งปี โลกจึงมีระยะห่างจาก ดวงอาทิตย์ไม่เท่ากัน ช่วงใกล้ที่สุดประมาณต้นเดือนมกราคม (147 ล้านกิโลเมตร) และช่วงไกลที่สุดประมาณต้นเดือนกรกฎาคม (152 ล้านกิโลเมตร) เมื่อเปรียบเทียบความแตกต่างของระยะทางใกล้-ไกล ในการโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ ถือเป็นอัตราส่วนที่น้อยมาก
จึงไม่มีผลต่อการเกิดฤดูกาลแต่อย่างใด แต่การที่แกนหมุนของโลกเอียงทำมุม 23.5 องศากับระนาบวงโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ พื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลกจึงรับแสงอาทิตย์ได้ในปริมาณไม่เท่ากัน ส่งผลให้มีอุณภูมิต่างกัน รวมถึงมีระยะเวลากลางวันและกลางคืนที่ต่างกันด้วย เป็นเหตุให้เกิดฤดูกาลขึ้นบนโลก จะสังเกตได้ว่า ในฤดูร้อน เวลากลางวันจะยาวกว่ากลางคืน ดวงอาทิตย์จะขึ้นเร็วและตกช้า ส่วนในฤดูหนาว เวลากลางคืนจะยาวนานกว่า ดวงอาทิตย์จะขึ้นช้าและตกเร็ว"
หากในวันพรุ่งนี้ (22 ธ.ค. 62) ท้องฟ้ามืดไวกว่าปกติก็ไม่ต้องแปลกใจกันค่ะ เป็นปรากฏการณ์ที่นานๆจะเวียนมาให้ได้สัมผัสกันสักครั้ง
เรียบเรียงเนื้อหาโดย : kaijeaw.in.th, ขอขอบคุณที่มาจาก : สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ Fan Page