เช็กแนวคิดการจัดการ ภาษีผ้าอนามัย จาก 6ประเทศทั่วโลก
กลายเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงกันอย่างมากสำหรับเรื่องภาษีผ้าอนามัย ที่หลังจากมีเรื่องเข้าใจผิดว่า จะมีการขึ้นภาษีเนื่องจากจัดเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย แต่สุดท้ายแล้วรัฐบาลก็ออกมาชี้แจงว่าไม่ใช่เรื่องจริง ทั้งนี้ผ้าอนามัยจัดเป็นสินค้าจำเป็นสำหรับคุณผู้หญิงอย่างมาก เพราะผู้หญิงทั่วโลกต้องซื้อผ้าอนามัยใช้เป็นประจำทุกๆเดือน รวมเป็นระยะเวลาเฉลี่ยแล้วกว่า 30 ปีเลยทีเดียว ซึ่งวันนี้เรามีแนวคิดจาก 6 ประเทศทั่วโลกในการจัดการกับภาษีผ้าอนามัย ว่าจะเป็นอย่างไรบ้าง
1.ประเทศสกอตแลนด์ ที่มีนโยบายแจกผ้าอนามัยฟรีแก่นักเรียนนักศึกษา เพราะว่าถือเป็นแนวคิดจากรัฐบาลที่ไม่ต้องการให้ประชาชนนั้นลำบากในการต้องซื้อข้าวของเครื่องใช้ที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวัน และแน่นอนว่าสิ่งนี้มีต้นทุกอย่างแน่นอน แต่รัฐบาลก็เลือกที่จะเลือกจ่ายเงินลงทุนราว 5 ล้านยูโรเพื่อที่ว่า นักเรียนนักศึกษานั้นต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดี พวกเขาจะได้สนใจและทำหน้าที่ในการเรียนของเขาได้ดีที่สุด
2.สหราชอาณาจักร เรื่องนี้ก็เป็นที่ถกเถียงเช่นเดียวกัน เพราะว่ากฎหมายดันระบุว่า “ผ้าอนามัย” เป็นสินค้าฟุ่มเฟือย แต่ก็มีการต่อสู้มาเรื่อย ๆ ตั้งแต่ลดภาษีสินค้าชนิดนี้ แต่ก่อนหน้านี้รัฐบาลได้ให้เหตุผลว่าที่ไม่สามารถทำอะไรได้เป็นอิสระ ก็เพราะว่าอยู่ใต้กฎหมายของสหภาพยุโรป แต่ล่าสุดเมื่อมีกระแส Brexit จึงมีการกลับมาพิจารณาเรื่องนี้อีกครั้ง จนท้ายสุดแล้วมีแผนการว่าจะมีการยกเว้นภาษีสินค้าชนิดนี้เช่นเดียวกัน อีกทั้งยังมีการบริจาคเงินเพื่อช่วยเหลืออีกด้วย
3.ประเทศไอร์แลนด์ ที่ตอนนี้ลดภาษีผ้าอนามัยเป็น 0 เปอร์เซ็น ซึ่งเกิดขึ้นก่อนที่จะมีการกำหนดอัตราการเก็บภาษีต่ำที่สุดตามกฎหมายของสหภาพยุโรปด้วย
4.มาเลเซีย เมื่อปีที่ผ่านมา เป็นอีกหนึ่งประเทศที่ออกมาประกาศละเว้นภาษีผ้าอนามัย และถูกนำออกจากรายการของสินค้าฟุ่มเฟือย เพราะก่อนหน้านี้ ผ้าอนามัย ในประเทศมาเลเซียเป็นสินค้าที่อยู่ในหมวดสินค้าความงามและสุขภาพ ทำให้ต้องจ่ายภาษีถึง 6%
5.สหรัฐอเมริกา ก็มีหลายรัฐออกมาจัดการกับเรื่องภาษีผ้าอนามัยเช่นเดียวกัน มีการเสนอเข้าสภาในหลาย ๆ รัฐ และรัฐล่าสุดที่เพิ่งจะยกเว้นภาษีสินค้านี้ไปก็คือ เนวาดา ซึ่งเป็นรัฐที่ 10 ของสหรัฐอเมริกา
6.อินเดีย เป็นหนึ่งประเทศที่มีการเรียกร้องถึงการลดภาษีสินค้านี้ มีกลุ่มที่ใช้ชื่อว่า Blood Tax หรือภาษีเลือดขึ้นมา เพื่อชูประเด็นว่าไม่ว่าจะเป็นภาษีจำนวนเท่าไหร่ ผ้าอนามัยและสินค้าจำเป็นสำหรับผู้หญิงนี้ควรจะต้องได้รับการยกเว้นภาษี ซึ่งการเรียกร้องเกิดขึ้นในช่วงที่อินเดียมีภาษี GST และต้องการจะเพิ่มการจัดเก็บภาษีสินค้าที่อยู่ในรายการถึง 12% แต่ในที่สุดการเรียกร้องนี้ก็เกิดชัยชนะ รวมไปถึงยังมีการเสนอต่อไปให้มีการแจกฟรีอีกด้วย เนื่องจากรายได้ต่อหัวของประชากรในอินเดียนั้น ทำให้มีปัญหาเรื่องความสามารถในการเข้าถึงสินค้าชนิดนี้ด้วย หลังจากการเปลี่ยนแปลงเรื่องภาษี นี่ก็ถือว่าเป็นอีกสิ่งที่ต้องรอดูต่อไปว่าจะเกิดอะไรขึ้นได้อีกบ้าง
สำหรับประเทศไทยเราแม้จะยังไม่มีการขึ้นภาษีผ้าอนามัยอย่างที่เป็นข่าว แต่ก็ยังไม่มีการจัดการให้ประชาชนเข้าถึงสินค้านี้ได้อย่างง่ายดายเหมือนหลายๆประเทศ อีกทั้งประชาชนยังต้องซื้อผ้าอนามัยในราคาสูง ซึ่งต่อเดือนนั้นผู้หญิงต้องจ่ายเฉลี่ยแล้วก็ตก 200-400 บาท ต่อเดือนเลยทีเดียว
ขอขอบคุณที่มาจาก : today.line.me