ใครอยากมีแฟนเป็นหมอ ต้องรู้รายได้หมอก่อนขอเป็นแฟน
โดยสมาชิกพันทิป K-Expert แบ่งปันอีกมุมหนึ่งในแง่ทางการเงินของคุณหมอ เล่าว่า.. บทความเรื่องนี้ได้แรงบันดาลใจมาจาก “รักฉุดใจนายฉุกเฉิน” ซึ่งเพิ่งจบไป จากกระแสของเรื่องนี้เล่นเอาว่า วงการหมอกลับมาครึกครื้นกันอีกครั้งเลยทีเดียว
กับประเด็นการตัดสินใจของทานตะวันในการเลือกระหว่างหมอเป้งกับหมอฉลาม ผมก็เลยเห็นว่าไหนๆ ก็กรี๊ดหมอกันซะขนาดนี้ เลยอยากเล่าเรื่องน่าสนใจของหมออีกมุมหนึ่งในแง่ทางการเงิน เผื่อใครอยากมีแฟนเป็นหมอจะได้มีข้อมูลไว้ อย่างน้อยจะได้คุยกับคุณหมอรู้เรื่อง มุมที่ว่านั้นคือ การจ่ายภาษีของหมอนั่นเอง
รายได้ของหมอ ซึ่งหลายคนอาจจะทราบอยู่ว่าน่าจะมีรายได้ที่ดีกันเลยทีเดียวและเรื่องที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือการจ่ายภาษีของหมอ ที่ซับซ้อนสามารถมีได้หลายรูปแบบ ดังนั้นวันนี้ผมก็เลยอยากจะมาแจกแจงการคิดภาษีของหมอว่ามีรูปแบบใดกันบ้าง
ก่อนอื่นขอปูพื้นเกี่ยวกับเรื่องภาษีเบื้องต้นให้ก่อนนะครับ รายได้ที่คุณหมอได้รับ เรียกเป็นทางการว่า “เงินได้พึงประเมิน” ตัวอย่างของหมอก็เช่น เงินเดือน, ค่าเข้าเวร, เงิน พ.ต.ส.(เงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งพิเศษด้านการแพทย์) เป็นต้น ซึ่งเงินได้ของคุณหมอต้องเข้า 1 ใน 8 ประเภทเสมอ โดยขอเอามาให้เห็นเป็นภาพชัดๆ จะได้เข้าใจกันง่ายขึ้นครับ
ซึ่งเงินได้แต่ละประเภทจะมีการหักค่าใช้จ่ายที่แตกต่างกันดังรูป
โดยอาชีพหมอมีความพิเศษอย่างหนึ่งคือ คุณหมอ สามารถมีเงินได้หลากหลายประเภทเลยทีเดียว แต่วันนี้อยากนำเสนอรายได้ที่ตรงกับ หมอ จริงๆ คือเงินได้ 4 ประเภทดังนี้ครับ
40(1) เงินได้ประเภทที่ 1 หรือ เงินเดือน เช่น เงินเข้าเวร เงิน พ.ต.ส. เบี้ยเลี้ยงที่ได้จากทางโรงพยาบาลได้ตกลงตามสัญญาจ้างแรงงาน
40(2) เงินได้ประเภทที่ 2 หรือ เงินได้จากหน้าที่ที่เราได้รับจากผู้ว่าจ้าง เช่น เงินได้จากการเข้าเวรที่โรงพยาบาลอื่นที่ไม่ใช่โรงพยาบาลที่หมอท่านนั้นได้ทำงานประจำ
40(6) เงินได้ประเภทที่ 6 หรือ เงินได้จากวิชาชีพอิสระ ซึ่งหมอถือเป็นการประกอบโรคศิลปะ รวมไปถึงการเปิดคลินิกรักษาคนไข้เป็นการส่วนตัว ที่ไม่มีเตียงค้างคืนด้วย
40(8) เงินได้ประเภทที่ 8 หรือ เงินได้อื่น ซึ่งได้จากการประกอบธุรกิจของหมอโดยตรง เช่น เปิดสถานพยาบาล เป็นของตนเอง และต้องมีเตียงผู้ป่วยเพื่อรับค้างคืนได้ มากกว่า 2 เตียง ด้วย
โดยการหักค่าใช้จ่ายของเงินได้แต่ละประเภทก็แตกต่างครับ
40(1)(2) หัก 2 ประเภทนี้รวมกันได้ 50% สูงสุด 100,000 บาท
40(6) และ 40(8) หักได้ 60% หรือหักตามจริง ให้ลองเทียบดูว่าหักเหมา 60% หรือหักตามจริงแบบไหน หักได้มากกว่ากันให้เลือกวิธีนั้นครับ แต่ส่วนมากมักจะหักเหมา 60% ครับ เงินได้พึงประเมิน หลังหักค่าใช้จ่ายแล้ว ต้องมีการหักค่าลดหย่อน อีกนะครับ ถึงจะเป็นเงินได้สุทธิ แล้วจึงนำเงินได้สุทธิมาคิดภาษีแบบขั้นบันไดอีกที ทำมาเป็นรูปจะได้เข้าใจมากขึ้นครับ
เพื่อให้เห็นความแตกต่างของภาษีที่หมอจะต้องจ่ายให้ชัดขึ้น เลยขอยกตัวอย่าง เป็นหมอ 3 หมอได้แก่ หมอวาฬ หมอฉลาม หมอเต่า ดังนี้ครับ โดยสามหมอนี้มีรายได้รวมทั้งปีเท่ากัน ที่ 2ล้านบาท และไม่มีค่าลดหย่อนอื่นอีก เรามาดูกันว่าถ้า 3 หมอทำงานในสถานะที่แตกต่างกันการคิดภาษีของหมอแต่ละคนจะแตกต่างกันขนาดไหน ใครจะมาก ใครจะน้อย มาดูกันครับ (โจทย์นี้คิดแค่การหักค่าใช้จ่าย และค่าลดหย่อนส่วนตัวครับ) โดยมีวิธีคำนวณดังรูป
I : หมอวาฬ
เริ่มต้นด้วยหมอคนแรกคือหมอวาฬ รับราชการเป็นหมอโรงบาลรัฐบาลนะครับ แล้วเวลาว่างของหมอวาฬจะไปรับจ๊อบตามโรงพยาบาลที่ไม่ใช่โรงบาลต้นสังกัด อีกครับ โดยโรงพยาบาลที่ไม่ใช่โรงพยาบาลต้นสังกัดจะให้เงินเป็นการันตีตอนอยู่เวร แล้วถ้ามีเคสเงินจะเป็นเงินได้ 40(6) แต่ถ้าไม่มีเคสหรือเคสไม่ถึงเงินการันตีขั้นต่ำจะจ่ายเงินเป็นเงินได้ 40(2) ครับ มาดูกันว่าหมอวาฬจะเสียภาษีเท่าไหร่
หมอวาฬ เงินได้พึงประเมิน 2 ล้านบาท
40(1) 3 แสนบาท (เงินเดือน จากโรงพยาบาลต้นสังกัด)
40(2) 7 แสนบาท (ค่าเข้าเวร การันตีตามชั่วโมงทำงาน จากโรงพยาบาลอื่น)
40(6) 1 ล้านบาท (ค่าเคส)
จะเห็นได้ว่าจากรายได้ของหมอวาฬจะต้องเสียภาษี 175,000 บาท นั่นเองนะครับ
II : หมอฉลาม
ส่วนคนที่สองคือหมอฉลาม ทำงานที่โรงพยาบาลเอกชนแต่สัญญาจ้างของหมอฉลามมีความพิเศษนิดหนึ่ง นั่นคือโรงบาลเอกชนให้ไปเซ็นสัญญาสิทธิพิเศษกับโรงพยาบาล เป็นสัญญาเพื่อขอใช้สถานที่เครื่องมือและอุปกรณ์ เพื่อประกอบโรค อัตราการจ้างของหมอฉลามของเรานะครับมีการการันตีผลตอบแทนขั้นต่ำไว้ให้ด้วยนะครับ โดยการันตีขั้นต่ำอยู่ที่ 150,000 บาทต่อเดือน ถ้าเดือนไหนเงินจากการทำเคสไม่ถึง 150,000 บาทจะมีเงินเติมให้ถึง 150,000 บาทเพราะฉะนั้นเงินรายได้หลักจากการทำเคสจะอยู่ใน 40(6) และเงินเติมอยู่ใน 40(2) ครับมาดูกันว่าหมอฉลามจะต้องเสียภาษีเท่าไหร่
หมอฉลาม เงินได้พึงประเมิน 2 ล้านบาท
40(2) 2 แสนบาท (รายได้นับตามชั่วโมงทำงาน หรือการันตีตามชั่วโมงทำงาน)
40(6) 1ล้าน 8แสนบาท (ค่าเคส)
ดังนั้นหมอฉลามต้องจ่ายภาษี 67,000บาท ครับ
III : หมอเต่า
ส่วนหมอคนสุดท้ายคือหมอเต่า เปิดคลินิกเองเลยมีสถานที่ประกอบการที่มีเตียงให้นอนค้างคืนได้เพราะฉะนั้นรายได้ของหมอเต่าเนี่ยจะถูกคิดภาษีเป็นรายได้ใน
40(8) และเลือกหักค่าใช่จ่ายแบบเหมา 60% มาดูกันว่ารายได้แบบหมอเต๋าจะเสียภาษีเท่าไหร่ครับ (หรือถ้าเปิดคลินิกแบบไม่มีเตียง ก็ถือเป็นเงินได้
40(6) ซึ่งการคำนวณต่างๆ ก็ไม่ต่างกับที่กำลังจะเล่านะ)
หมอเต่าเสียภาษีอยู่ที่ 63,500 บาท ครับ
ดังนั้นประเภทเงินได้ที่แตกต่างกันก็จะทำให้การเสียภาษีมีความแตกต่างกัน สรุปง่ายๆ ก็คือถึงมีอาชีพหมอเหมือนกัน ก็ยังมีการหักค่าใช้จ่ายที่ไม่เหมือนกันทำให้เสียภาษีไม่เท่ากัน และถ้าหมอคนไหนรู้ว่าตัวเองจะต้องเสียภาษีเยอะก็มีอีกวิธีหนึ่งคือการเพิ่มค่าลดหย่อน ซึ่งค่าลดหย่อนก็มีหลายรูปแบบ แต่ค่าลดหย่อนจำพวกหนึ่งที่เราสามารถสร้างได้จากการออมและลงทุน ได้แก่ LTF, RMF, ประกันออมทรัพย์ และ ประกันบำนาญ ค่าลดหย่อนกลุ่มนี้ถือว่าเป็นการออมและลงทุนพร้อมให้ผลประโยชน์ทางภาษีด้วย ถ้าสนใจค่าลดหย่อนประเภทนี้ก็ศึกษาเงื่อนไขให้ละเอียดอีกทีนะครับ อย่าง LTF เองสามารถซื้อได้ปีนี้เป็นปีสุดท้ายแล้วนะครับ
(ส่วน SSF ปีหน้า ก็ลองศึกษาเพิ่มเติมดูนะ) สุดท้ายนี้ใครที่อยากมีแฟนเป็นหมอ อาจใช้มุขขอแต่งงานเช่น “แต่งงานกับเราสิ จะได้มีค่าลดหย่อนคู่สมรส เธอจะได้ประหยัดภาษีพร้อมกับมีเราด้วยไง” 55555
เรียบเรียงโดย : kaijeaw.in.th ขอขอบคุณที่มา : K-Expert