ย้อนอดีตต้นกำเนิดแชร์ลูกโซ่ ก่อนจะมาเป็น แม่มณี
แชร์แม่ชม้อย ข่าวดังในอดีต (พ.ศ.2526-2528) ต้นกำเหนิดแชร์ลูกโซ่ในปัจจุบัน โดยแชร์แม่ชม้อย เรียกว่า แชร์น้ำมัน หน่วยลงทุนเป็นคัน (คันรถน้ำมัน) ราคาอยู่ที่คันละ 160,000 บาท จะได้เงินคืนเดือนละ 10,400 บาท
แต่ถ้าใครไม่มีทุนก็เลือกลงทุนในขนาดย่อยลงมาคือ เป็น ล้อ ล้อละ 40,000 (หนึ่งคันมีสี่ล้อ) จะได้เงินคืนเดือนละ 2,600 บาท ด้วยดอกเบี้ยที่งดงามและจ่ายตรงเวลาตลอดทำให้แชร์แม่ชม้อยเป็นที่ร่ำลือแบบปากต่อปาก และเติบโตเร็วมากตลอดระยะเวลา 3 ปี มีเงินหมุนเวียนแปดพันล้าน เมื่อความยิ่งใหญ่ของแชร์น้ำมัน ระบือลือลั่นและขยายขอบข่ายไปในหมู่ผู้คนหลายวงการ หนังสือพิมพ์เริ่มคุ้ยขุดที่มาที่ไป
รัฐมนตรีถึงต้องเรียกไปคุย แต่ก็เอาผิดแม่ชม้อยไม่ได้ (ยุคนั้นยังไม่มีกฏหมายเกี่ยวกับการเล่นแชร์) จนย่างเข้าวันที่ 30 สิงหาคม 2527 นสพ.ไทยรัฐพาดหัวข่าว "คลังแถลงการณ์ด่วนจะออกกฎหมายคุมแชร์" ขีดเส้นชม้อยอยู่ได้อีก 5 เดือน ให้คนเล่นถอนตัว พังไปไม่รับผิดชอบ และกำชับข้าราชการ พนักงานขององค์กรรัฐ ให้ใช้ความรอบคอบเป็นพิเศษในการนำเงินไปลงทุน ยิ่งข่าวตีเท่าไหร่ แชร์ก็ยิ่งดังเท่านั้น
จนรัฐบาลต้องงัดเอาแผนสอง ออกมาดำเนินการโดยประกาศว่า จะนำพระราชกำหนดเกี่ยวกับแชร์เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 11 กันยายน 2527 ซึ่งเมื่อพระราชกำหนดดังกล่าวออกมาเมื่อใด วงแชร์ทั้งหลายจะต้องยุติลง หากฝ่าฝืนเจ้าหน้าที่มีสิทธิ์จับกุมได้ทันที และในวันที่ 10 กันยายน ทีวี ช่อง 9 ได้ออกข่าวนางชม้อย เข้าพบ รมช.คลัง ยอมเลิกกิจการวงแชร์ และจะนำเงินมาคืนให้กับผู้ลงทุน
เช้ามืดวันที่ 11 ถนนทุกสายก็มุ่งหน้าสู้บ้านแม่ชม้อย หนังสือพิมพ์ทุกฉบับพากันไปทำข่าวอย่างมากเป็นประวัติศาสตร์ ท่ามกลางเสียงสาปแช่งจากลูกแชร์ที่ติเตียนหนังสือพิมพ์ ทีวี ที่เป็นตัวการสำคัญทำให้เกิดความวุ่นวายและด่าทอธนาคารที่ไม่สามารถจ่ายเงินดอกเบี้ยเหมือนแม่ชม้อยแล้วยังมาหาทางบีบสารพัด โดยระหว่างการให้สัมภาษณ์ครั้งหนึ่งของแม่ชม้อย ลูกแชร์ตะโกนว่า "พวกเรามาให้กำลังใจ ไม่ได้มาถอน" จนกระทั่งวันที่ 11 พฤศจิกายน 2527 รัฐบาลได้ออกพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงเงิน และให้กรมสรรพากรเข้าตรวจสอบยอดเงินฝากแม่ชม้อย หลังจากนั้นได้ประเมินว่า นางชม้อยจะต้องชำระภาษีเป็นเงิน 41.6 ล้านบาท
โดยขีดเส้นตายให้ชำระภายในวันที่ 5 เมษายน 2528 และอายัดเงินฝาก แม่ชม้อย ทุกบัญชี และด้วยเหตุนี้เอง ทำให้แม่ชม้อยไม่สามารถนำเงินมาจ่ายเงินให้ลูกแชร์ได้ ความวุ่นวายก็เกิดขึ้น ลูกแชร์ระส่ำระสาย และแม่ชม้อยก็หายตัวไป 2 เดือน ก่อนวันที่ 7 มิถุนายน 2528 แม่ชม้อยนัดลูกแชร์เพื่อชี้แจงการจ่ายเงิน แม่ชม้อยกล่าวสรุปความว่า "นับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปขอประกาศให้ทราบทั่วกันว่าขอเลิกการเล่นแชร์อย่างเด็ดขาดสำหรับผลประโยชน์ไม่มีจ่ายให้แต่จะพยายามจ่ายเงินต้นคืนให้ครบทุกคน ซึ่งจะได้ติดประกาศไว้ที่หน้าประตูบ้านเรียงตามลำดับหมายเลขที่จะให้มารับเงินคืน"
แต่หลังจากนั้นก็ไม่มีการจ่ายเงินคืน จนกระทั่งวันที่ 26 มิถุนายน 2528 อธิดีกรมตำรวจได้รับไฟเขียวจากรัฐบาลให้ดำเนินการกวาดล้างบรรดาเจ้ามือแชร์ซึ่งมีพฤติกรรมฉ้อโกง เป้าหมายแรกคือ แม่ชม้อย หลังจากจับแม่ชม้อยได้ ปฏิบัติการค้นหาทรัพย์สินก็เกิดขึ้น โดยแม่ชม้อยกล่าวว่า "ม้อยไม่มีม้อยหมดตัวแล้ว ม้อยถูกเขาโกงหมด " หลังจากตรวจค้นบ้านแม่ชม้อยหลายครั้งแต่ไม่พบทรัพย์สินใดใด จนกระทั่งวันที่ 23 กรกฏาคม 2528 ก็พบห้องลับที่ดัดแปลงตบตาตำรวจขนาด 80 เซนติเมตร ลึก 2 เมตร มีวอลเปอร์อำพรางและมีตู้กระจกใส่เสื้อผ้าบังหน้าประตูไว้ โดยข้างในมีทรัพย์สินเงิน / ทองคำแท่ง / เพชร รวม 35,912,495 บาท และในวันที่ 29 กรกฏาคม 2528 ขุมทรัพย์ที่ถูกฝังดินไว้ในพื้นที่ลพบุรี ก็ถูกขุดขึ้นมาอีก 19 ล้านบาท โดยเป็นเงินสดใส่กระเป๋าและถุงปุ๋ยฝังดินอยู่
รวมทรัพย์สินที่ตามคืนได้ประมาณ 60 ล้านบาท โดยคดีนี้มีผู้เสียหายมาแจ้งดำเนินคดีถึง 18,281 ราย ในวงเงินความเสียหาย สี่พันแปดร้อยล้านบาท ถือเป็นคดีดังในยุคนั้นเลย สมัยนั้นไม่มีใครไม่รู้จักแม่ชม้อย
เรียบเรียงโดย : kaijeaw.in.th ขอขอบคุณที่มา : บรรเจิดเริ่ดสะแมนแตน