ตอบทุกข้อสงสัย วิธีรับเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด 2562 อย่างละเอียด
สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่มีความสงสัยเรื่องเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด วันนี้เราจะมาไขทุกข้อสงสัยในเรื่องนี้กัน ใครได้สิทธิ์บ้าง เช็คยังไง มีวิธีการอย่างไร ใช้เอกสารอะไรบ้าง ทำไมเงินถึงไม่เข้า ติดต่อใครได้บ้าง อ่านคำตอบทุกข้อสงสัยได้เลย
เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด 2562 การจ่ายเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดตามโครงการบูรณาการฐานข้อมูลสวัสดิการสังคม ซึ่งในปัจจุบันคนท้องสามารถลงทะเบียนล่วงหน้าก่อนได้แล้ว สำหรับในปีงบประมาณ 2562 จะสิ้นสุดลงในวันที่ 30 กันยายน 2562 ค่ะ
ผู้มีสิทธิ์ในการได้รับเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด
1.เด็กที่รับสิทธิ์ในปีงบประมาณ 2559 – 2561 (เด็กที่เกิดตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2558 – 30 กันยายน 2561) ได้สิทธิ์รับเงินต่อเนื่องเดือนละ 600 บาท จนอายุครบ 6 ปี
2.เด็กที่เกิดตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2558 – 30 กันยายน 2561 แต่ไม่มีคุณสมบัติตามระเบียบ คือ มีรายได้ครัวเรือนเฉลี่ยไม่เกิน 36,000 บาท ต่อคน ต่อปี (ตามประกาศเก่าทำให้ไม่มีสิทธิ์ได้รับเงิน) ซึ่งปัจจุบันได้ขยายเป็นรายได้ครัวเรือนเฉลี่ยไม่เกิน 100,000 บาท ต่อคน ต่อปี มีสิทธิ์ได้รับเงินนับตั้งแต่ปีงบประมาณ 2562 เดือนละ 600 บาท จนอายุครบ 6 ปี
3.เด็กที่เกิดตั้งแต่ปีงบประมาณ 2562 ได้รับเงินเดือนละ 600 บาท จนอายุครบ 6 ปี ได้แก่
- เด็กที่เกิดตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2561 – 30 กันยายน 2562 และผู้ปกครองได้มายื่นขอรับสิทธิ์ภายในวันที่ 30 กันยายน 2562 จะได้รับสิทธิ์ด้วยเช่นกัน (หากไม่ได้ลงทะเบียนภายในวันที่ 30 กันยายน 2562 ก็ได้รับสิทธิ์เช่นกัน)
- เด็กเกิดตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2562 เป็นต้นไป จะได้รับสิทธิ์ด้วยเช่นกัน
4.ต้องไม่เป็นผู้ได้รับเงินช่วยเหลือในการเลี้ยงดูบุตร * จากหน่วยงานของรัฐ หรือ รัฐวิสาหกิจ หรืออยู่ในความอุปการะของหน่วยงานของรัฐหรือเอกชน
5.ต้องอาศัยอยู่กับผู้ปกครองที่อยู่ในครัวเรือนที่มีรายได้น้อย หรืออยู่กับพ่อแม่ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรืออยู่กับแม่แต่ไม่ได้อยู่กับพ่อที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ(แม่เลี้ยงเดี่ยว) หรืออยู่กับพ่อที่
6.สามารถเช็คสิทธิ์ ทางออนไลน์ได้ที่ csg.dcy.go.th
ผู้มีสิทธิ์ลงทะเบียนขอรับเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด
1.สัญชาติไทย หรือบิดาของเด็กแรกเกิดที่มีสัญชาติไทย (กรณีหญิงตั้งครรภ์ หรือมารดาของเด็กแรกเกิด เป็นหญิงต่างด้าว หรือบุคคลไร้สถานะทางทะเบียนราษฎร์)
2.เป็นบุคคลที่รับเด็กแรกเกิดไว้ในความอุปการะเพื่อเลี้ยงดูอย่างบุตร
3.เด็กแรกเกิดต้องอาศัยรวมอยู่ด้วย
4.อยู่ในครัวเรือนที่มีรายได้น้อย คือ รายได้เฉลี่ยไม่เกิน 100,000 บาท ต่อคน ต่อปี ผู้ปกครองที่มีสิทธิ์ลงทะเบียนรับเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด (เดิมไม่เกิน 36,000 บาท ต่อคน ต่อปี)
5.ไม่เป็นผู้ได้รับเงินช่วยเหลือเลี้ยงดูบุตรจากหน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรืออยู่ในความอุปการะของหน่วยงานของรัฐ
วิธีการลงทะเบียนขอรับสิทธิ์
1.เตรียมเอกสารการลงทะเบียน
- แบบคําร้องขอลงทะเบียน (ดร.01) ขอจากสถานที่ที่คุณลงทะเบียน
- แบบรับรองสถานะของครัวเรือน (ดร.02) ขอจากสถานที่ที่คุณลงทะเบียน (อ่านรายละเอียดเกี่ยวกับการรับรองสถานะครัวเรือน เพิ่มเติมด้านล่าง)
- บัตรประจําตัวประชาชนของหญิงตั้งครรภ์/มารดา/บิดา หรือผู้ปกครอง
- สําเนาบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
- สําเนาสมุดบันทึกสุขภาพแม่และเด็ก (เฉพาะหน้าที่ปรากฏชื่อหญิงตั้งครรภ์)
- สําเนาสูติบัตรเด็กแรกเกิด
- สําเนาหน้าแรกของสมุดบัญชีเงินฝากของผู้ที่จะขอรับเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมด้านล่าง)
2.ยื่นคำร้องขอลงทะเบียน เพื่อขอรับสิทธิ์เงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด (ดร.01) ณ สถานที่รับลงทะเบียน ดังนี้
- กรุงเทพมหานคร (สำนักงานเขตทุกเขต)
- เมืองพัทยา (ศาลาว่าการเมืองพัทยา)
- ส่วนภูมิภาค (สำนักงานเทศบาล หรือ อบต.)
- กรณีทำงานหรืออาศัยอยู่ต่างภูมิลำเนา สามารถลงทะเบียนได้ที่ สำนักงานเขตทุกเขต, เมืองพัทยา หรือเทศบาล, อบต. ในพื้นที่ที่อาศัยอยู่จริงหรือที่อยู่ปัจจุบัน
3.รอประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิ์ จากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ณ ที่ทําการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสถานที่อื่นตามที่เห็นสมควร เช่น ที่ทําการกํานัน หรือผู้ใหญ่บ้าน เป็นต้น โดยจะประกาศวันที่ 1 และ 16 ของทุกเดือน
คนท้องอยากลงทะเบียนก่อน ทำอย่างไร
คนท้องสามารถบันทึกข้อมูลเบื้อต้น (โดยย่อ) จากหน่วยรับลงทะเบียน (สำนักงานเขตทุกเขต/ศาลาว่าการเมืองพัทยา/สำนักงานเทศบาล หรือ อบต.)โดยมีรายละเอียด ดังนี้
- ลงทะเบียน ณ วันที่ …
- เลขบัตรประจำตัวประชาชน (ผู้ลงทะเบียน)
- ชื่อและนามสกุล (ผู้ลงทะเบียน)
- วันเดือนปีเกิด (ผู้ลงทะเบียน)
- อาชีพ (ผู้ลงทะเบียน)
- หมายเลขโทรศัพท์ที่สามารถติดต่อได้ (ผู้ลงทะเบียน)
- อายุครรภ์ และกำหนดการคลอดบุตร
- จำนวนบุตรในครรภ์
การรับรองสถานะของครัวเรือน (ดร.02)
1.กรณีที่ไม่ต้องรับรองสถานะของครัวเรือน (ดร.02)
- พ่อและแม่เป็นผู้เลี้ยงดูเด็กแรกเกิด และเป็นผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐทั้ง 2 คน
- แม่เป็นผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และเป็นผู้เลี้ยงดูเด็กแรกเกิดคนเดียว ไม่ปรากฎพ่อที่ชอบด้วยกฏหมาย (แม่เลี้ยงเดี่ยว)
- พ่อเป็นผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และเป็นผู้เลี้ยงดูเด็กแรกเกิดคนเดียว ไม่ปรากฎแม่ที่ชอบด้วยกฏหมาย (พ่อเลี้ยงเดี่ยว)
2.กรณีที่ต้องรับรองสถานะของครัวเรือน (ดร.02)
- พ่อและแม่เป็นผู้เลี้ยงดูเด็กแรกเกิด แต่ไม่ได้เป็นผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐทั้ง 2 คน
- พ่อหรือแม่ ที่ไม่ได้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและอาศัยอยู่กับเด็กแรกเกิด หรือหญิงตั้งครรภ์ ที่ไม่ได้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
- ผู้ปกครองที่ไม่ใช่พ่อหรือแม่ เป็นผู้ที่เลี้ยงดูและอาศัยอยู่กับเด็กแรกเกิด และไม่ได้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
- แม่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ แต่พ่อไม่ได้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และอาศัยอยู่กับเด็กแรกเกิด
- พ่อถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ แต่แม่ไม่ได้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และอาศัยอยู่กับเด็กแรกเกิด
ต้องให้ใครเป็นผู้รับรองสถานะของครัวเรือน
1.ผู้รับรองคนที่ 1
- กรุงเทพมหานคร: ให้หัวหน้าฝ่ายพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคม ประจําสํานักงานเขต หรือประธานชุมชน หรืออาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) หรืออาสาสมัครสาธารณสุข (อสส.)
- เมืองพัทยา: ให้ประธานชุมชน หรืออาสาสมัครเมืองพัทยา หรืออาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.)
- ส่วนภูมิภาค (ในเขตเทศบาล หรือ อบต.): ให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรืออาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) หรืออาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) หรือประธานชุมชน
2. ผู้รับรองคนที่2
- กรุงเทพมหานคร: ให้ผู้อํานวยการเขตหรือข้าราชการที่ผู้อํานวยการเขตมอบหมาย
- เมืองพัทยา: ให้ปลัดเมืองพัทยา หรือข้าราชการที่ปลัดเมืองพัทยามอบหมาย
- ส่วนภูมิภาค (ในเขตเทศบาล หรือ อบต.): ให้ปลัดเทศบาลหรือข้าราชการ ที่ปลัดเทศบาลมอบหมาย หรือปลัด อบต. หรือข้าราชการที่ปลัด อบต. มอบหมาย
3.ในกรณีที่ผู้รับรองคนที่ 1 และ 2 ไม่รับรอง ให้หัวหน้าบ้านพักเด็กและครอบครัว รับรอง โดยดำเนินการ ดังนี้
- กรณีที่ผู้รับรองดังกล่าวไม่รับรอง ขอให้ผู้รับรองคนนั้น ระบุสาเหตุการไม่รับรอง
- แจ้งความประสงค์ขอให้กรมกิจการเด็กและเยาวชน ดําเนินการตรวจสอบและพิจารณาให้การรับรองสถานะของครัวเรือนผู้ปกครอง โดยนําแบบฟอร์มการลงทะเบียน (ดร.01 – ดร.02) ไปขอรับใบ “แบบคําร้องแจ้งความประสงค์ขอรับสิทธิ์เงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด (ดร.8)” แล้วนำไปยื่นที่ดังต่อไปนี้
# กรุงเทพมหานคร นำใบ (ดร.8/1) ไปยื่นคําร้องที่บ้านพักเด็กและครอบครัวกรุงเทพมหานคร
# ต่างจังหวัด นำใบ (ดร.8/2) ไปยื่นคําร้องที่บ้านพักเด็กและครอบครัวในจังหวัดนั้นๆ
- หลังจากบ้านพักและครอบครัว ตรวจสอบและพิจารณารับร้องและไม่รับร้องแล้ว ให้นำผลการพิจารณา พร้อมกับแบบฟอร์มการลงทะเบียน (ดร.01 – ดร.02) ไปยื่นยังที่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ธนาคารที่รองรับการจ่ายเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด
- บัญชีธนาคารผูกพร้อมเพย์ 15 ธนาคาร (ผูกบัญชีพร้อมเพย์ด้วยเลขบัตรประจำตัวประชาชนของเจ้าของบัญชีเท่านั้น ถ้าผูกกับเบอร์โทรศัพท์จะใช้ไม่ได้)
ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารธนชาติ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ธนาคารออมสิน ธนาคารเกียรตินาคิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารทหารไทย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารแลนด์แอนด์เฮ้าส์ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารทิสโก้
- บัญชีเงินโอน (ประเภท บัญชีออมทรัพย์ สะสมทรัพย์ เผื่อเรียก กระแสรายวัน)
ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์
ทำไมยังไม่ได้รับเงิน หรือเงินไม่เข้าบัญชี
- บัญชีปิดไปแล้ว/ไม่พบเลขบัญชี > ให้คุณแม่เปิดบัญชีใหม่แล้วติดต่อกับจังหวัดที่ลงทะเบียนเพื่อเปลี่ยนบัญชีใหม่
- ข้อมูลที่ดึงไปจ่ายไม่ถูกต้อง เช่น คีย์เลขบัญชีไม่ถูกต้อง/บัญชีผิดประเภท /วันเดือนปีเกิดไม่ถูกต้อง / เลขบัตรประชาชนเจ้าของบัญชีธนาคารไม่สัมพันธ์กับเลขบัญชีธนาคาร > ให้คุณแม่แจ้งผู้บันทึกข้อมูล เพื่อแก้ไขข้อมูลให้ถูกต้อง
- ไม่สามารถใช้บัญชีได้ เช่น การเปิดบัญชีที่มีเงื่อนไข ตัวอย่าง การเปิดบัญชีสำหรับเด็ก เมื่อเด็กอายุครบ 18 ปี ถึงสามารถเบิกได้
- เคยสมัครพร้อมเพย์แล้วแต่ยกเลิก (กรณียื่นบัญชีธนาคารที่ผูกพร้อมเพย์ 15 ธนาคาร) > ให้คุณแม่สมัครพร้อมเพย์กับบัญชีธนาคารที่แจ้งลงทะเบียนไว้ใหม่
- ยังไม่มีการลงทะเบียนพร้อมเพย์ (กรณียื่นบัญชีธนาคารที่ผูกพร้อมเพย์ 15 ธนาคาร) > ให้คุณแม่ผูกพร้อมเพย์กับเลขบัตรประจำตัวประชาชน สามารถขอ ผูกได้กับธนาคารที่แจ้งลงทะเบียนไว้ค่ะ
- ผูกพร้อมเพย์แล้วแต่แจ้งบัญชีธนาคารผิด > ให้คุณแม่ตรวจสอบว่าผูกกับธนาคารไหน เพราะการจ่ายเงินจ่ายตามเลขบัตรประจำตัวประชาชน
เงินจะเข้าเมื่อไหร่ จะรู้ยังไงว่าเงินเข้าแล้ว
ธนาคารจะโอนเงินให้ผู้มีสิทธิผ่านทางพร้อมเพย์ และบัญชีเงินฝากธนาคาร ในวันดังต่อไปนี้
- เดือน กรกฎาคม 2562: วันศุกร์ที่ 19 กรกฎาคม 2562
- เดือน สิงหาคม 2562: วันอาทิตย์ที่ 20 สิงหาคม 2562
- เดือน กันยายน 2562: วันศุกร์ที่ 20 กันยายน 2562
เงินจะถูกโอนเข้าตามเวลา เปิด – ปิด ของธนาคาร
ทางเจ้าหน้าที่จะทราบผลการจ่ายเงินเมื่อมีการโอนเงินไปแล้วอีก 14 วัน (หากคุณแม่ต้องการสอบถามเรื่องเงินจากเจ้าหน้าที่ต้องรออย่างน้อย 14 วันค่ะ)
จะรู้ได้ยังไงว่าเงินเข้าหรือยัง > แนะนำให้คุณแม่นำสมุดบัญชีธนาคารที่ลงทะเบียนไว้ไปปรับกับเจ้าหน้าที่ในธนาคารนะคะ หากไปปรับที่ตู้เครื่องจะปรับเป็นยอดเงินรวม ทำให้ไม่สามารถแยกรายการออกได้
ทราบผลจากโอนจาก SMS > ในบางกรณี SMS ก็ไม่มีการแจ้งเตือนเข้า คุณแม่อาจต้องนำสมุดบัญชีไปปรับที่ธนาคารนะคะ
อยากเปลี่ยนแปลงบัญชีธนาคารผู้รับ ทำอย่างไร
1.นําหลักฐานในการเป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูเด็กอย่างบุตรจริง พร้อมยื่นคําร้อง ขอเปลี่ยนแปลงสิทธิ์ผู้รับเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด (ดร.09) แบบคําร้องขอลงทะเบียนเพื่อขอรับสิทธิ์เงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดได้ (ดร.01) และแบบรับรองสถานะของครัวเรือน (ดร.02) ได้ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เคยลงทะเบียนไว้
2.รอประกาศจากองค์กรส่วนท้องถิ่น
การสิ้นสุดสิทธิ์และระงับการจ่ายเงิน
- เด็กมีอายุครบ 6 ปี (จะได้รับเงินทั้งสิ้น 72 งวด และเริ่มนับเดือนที่เกิดเป็นงวดแรก)
- เด็กแรกเกิดเสีย
- ผู้ยื่นคำขอสละสิทธิ์ในการขอรับเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดเป็นหนังสือ
- ตรวจพบข้อมูลที่เป็นเท็จ
ช่องทางติดต่อสอบถามเจ้าหน้าที่ และการตรวจสอบสิทธิ์ หน่วยงานที่รับลงทะเบียน โดยคุณแม่สามารถตรวจสอบสิทธิ์ได้ประมาณ 1-3 เดือน * กรณีคุณแม่ที่ลงทะเบียนระหว่างตั้งครรภ์ ให้นับวันที่ส่งสูติบัตร พมจ.จังหวัดที่คุณลงทะเบียนไว้ มีหน้าที่ บันทึกข้อมูลตามแบบลงทะเบียนและเอกสารประกอบการลงทะเบียนเข้าสู่ระบบฐานข้อมูลให้ถูกต้องครบถ้วน(สมบูรณ์) โดยคุณแม่สามารถตรวจสอบสิทธิ์ได้ประมาณ 4-5 เดือน ขึ้นไป เจ้าหน้าที่ศูนย์ปฏิบันการโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด 0-2651-6537 0-2255-5850-7 ต่อ 121, 122, 123, 147 เฟซบุ๊กเพจ: โครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด
ขอขอบคุณที่มาจาก : th.theasianparent.com