คลังมอบเงินกว่า 2 หมื่นล้านช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วม-ภัยแล้ง
ที่ว่าการอำเภอบ้านไผ่ จ.ขอนแก่น นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มอบเงินสนับสนุนต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปีปีการผลิต 2562/63 จำนวน 2,000 ราย พร้อมมอบถุงยังชีพให้กับผู้ประสบอุทกภัยจำนวน 1,000 ราย
นายจีรวัฒน์ โลหะ ผู้อำนวยการ ธกส.ขอนแก่น กล่าวว่า เงินช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ตามโครงการสนับสนุนต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 62/63 อย่างเป็นทางการซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล โดย ธกส.ได้โอนเงินตามโครงการแก่เกษตรกรไปแล้ว 1,773,549 ครัวเรือน เป็นเงิน 10,976 ล้านบาท คิดเป็นนร้อยละ 40 ของเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าวนาปี ไว้กับกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ส่วนที่เหลือทางกรมส่งเสริมการเกษตรจะทยอยส่งข้อมูลการเพาะปลูกให้กับ ธกส.เพื่อดำเนินการตรวจสอบความถูกต้องตามหลักเกณฑ์ของโครงการและเตรียมจ่ายเงินในรอบต่อไป ซึ่ง ธกส.จะทำการโอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกรโดยตรงสามารถตรวจสอบรายชื่อ ได้ที่ตู้เอทีเอ็มและเครื่องปรับสมุดเงินฝากอัตโนมัติของ ธกส.
ขณะที่ นายอุตตม กล่าวว่า จากนี้ไปหน่วยงานต่างๆ จะทำงานร่วมกันเพื่อประชาชนอย่างเต็มที่ เพื่อเชื่อมโยงกันให้ชุมชนเข้มแข็งเพราะจะเป็นฐานแห่งความก้าวหน้าความเจริญ ซึ่งต่อจากนี้ไปหน่วยงานในสังกัดกระทรวงการคลังและกระทรวงอื่นๆจะร่วมกันทำงานโดยยึดประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง
“รัฐบาลจะออกมาตรการที่ให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุดอย่างต่อเนื่องเพื่อเป็นการช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยพิบัติจากธรรมชาติ ซึ่งปีนี้ประสบทั้งภัยแล้งและน้ำท่วมในปีเดียวกัน เป็นการช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้เกษตรกรสามารถดำรงชีพอยู่ได้ ช่วยลดต้นทุนการผลิตเพื่อให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น และให้เกษตรกรมีกำลังใจในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ซึ่งขณะนี้ได้ให้ ธกส. และกรมบัญชีกลาง จ่ายเงินอุดหนุนให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 62/63 ไร่ละ 500 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ วงเงิน 25,000 ล้านบาท สำหรับวันนี้เป็นงวดแรก เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่เดือดร้อนจากปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วม”
รมว.คลัง กล่าวต่ออีกว่า ขณะนี้ ธกส.ได้รับรายชื่อเกษตรกรที่จะได้รับเงินอุดหนุนจากกระทรวงเกษตรฯแล้ว มีประมาณ 2 ล้านราย และ ซึ่งจะทยอยโอนเงินช่วยค่าปลูกข้าวเข้าบัญชี ของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวภายใน 3 วันให้เสร็จสิ้น ในส่วนของเกษตรกรที่ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติได้กำชับให้ ธกส.พิจารณาช่วยเหลือทั้งระยะเร่งด่วน และระยะยาว โดยระยะเร่งด่วนให้การช่วยเหลือมอบถุงยังชีพ สนับสนุนศูนย์อพยพ ส่วนระยะยาวพิจารณามอบเงินช่วยเหลือทั้งในเรื่องของการซ่อมแซมบ้าน เครื่องมือ เครื่องจักรกลทางการเกษตร และข้าวของเครื่องใช้ในครอบครัว
“สำหรับภาระหนี้สินที่มีอยู่กับ ธกส.ให้มีมาตรการขยายเวลาการชำระหนี้และพิจารณาให้สินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉินที่จำเป็นในครอบครัวเพื่อป้องกันการก่อหนี้นอกระบบไม่เกินรายละ 50,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0 ในช่วง 6 เดือนแรกและสินเชื่อเพื่อการฟื้นฟูการเกษตรและการพัฒนาคุณภาพชีวิต เช่นค่าลงทุนซ่อมแซมที่อยู่อาศัย การเกษตรเครื่องมือเครื่องจักรกลที่นำมาใช้ในการฟื้นฟูอาชีพรายละไม่เกิน 50,000 บาทชำระไม่เกิน 15 ปี รองรับวงเงินสินเชื่อรองรับมาตรการต่างๆจำนวน 60,000 ล้านบาท”