รับมือน้ำโขงผันผวน พันธุ์สัตว์น้ำเสียหายปรับตัวไม่ทัน
กรมประมง เตรียมรับมือน้ำโขงผันผวนตั้งศูนย์เฝ้าระวังระดับน้ำแม่โขง เปิด-ปิดเขื่อนกั้นน้ำ ผันผวนหนัก สัตว์น้ำทั้งในธรรมชาติ-เพาะเลี้ยงเสียหายปรับตัวไม่ทัน กระทบชาวประมงริมโขงพร้อมทั้งผู้ประกอบการเลี้ยงปลากระชังในจังหวัดหนองคาย บึงกาฬ มุกดาหาร อำนาจเจริญพบผู้ได้รับความเดือดร้อน
นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง กล่าวว่าสถานการณ์ความผันผวนของระดับน้ำในแม่น้ำโขง ยังน่าเป็นห่วง จากเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อนระดับน้ำลดลงถึงขั้นวิกฤติ แต่แล้วกลับเพิ่มขึ้นอย่างกะทันหัน ต่อจากนี้คาดการณ์ว่า จะมีการเพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างรวดเร็วได้อีก ทำให้สัตว์น้ำทั้งในแม่น้ำโขงตลอดจนลำน้ำสาขาของไทยและที่เกษตรกรเพาะเลี้ยงในกระชังได้รับความเสียหายเพราะปรับตัวไม่ทัน
กรมประมงจึงจัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ด้านการประมง (Fisheries watch) เพื่อใช้เตรียมรับสถานการณ์ เร่งฟื้นฟูด้วยการปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำและส่งเสริมการผลิตสัตว์น้ำร่วมกับชุมชนประมงในพื้นที่ห้วย หนอง และบึง ที่เป็นลำน้ำสาขาแม่น้ำโขงในไทย
โดยเน้นชนิดพันธุ์ที่มีถิ่นอาศัยเดิมและเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ได้แก่ ปลาบึก ยี่สก ปลาเทพา นวลจันทร์ เป็นต้น จัดฝึกอบรมการเพาะพันธุ์สัตว์น้ำในระบบโรงเพาะฟักภาคสนาม (Mobile Hatchery) เพื่อให้ชุมชนสามารถบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำไว้ใช้ในแหล่งน้ำชุมชนตนเองได้อย่างเพียงพอ นอกจากนี้ยังจะกำหนดเขตอนุรักษ์พันธุ์ปลาในพื้นที่ที่มีความเหมาะสมเพื่อให้เป็นแหล่งรักษาพ่อแม่พันธุ์ไว้ พร้อมทั้งนำวิธีการเพาะพันธุ์ภาคสนามเข้ามาช่วยเพื่อให้พันธุ์สัตว์น้ำได้มีโอกาสขยายพันธุ์วางไข่มากขึ้น
นายอดิศร กล่าวต่อว่า ขณะนี้ได้สั่งการให้หน่วยงานประมงในแต่ละจังหวัดไปหารือร่วมกับชาวบ้านเพื่อเตรียมประกาศเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำ(Fish Stock) ตามห้วงเวลาและความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ โดยเน้นในเขตที่เป็นวังน้ำลึก (Deep pool) ซึ่งสัตว์น้ำมักหลบหนีไปอาศัยในช่วงที่ลำน้ำโขงลดระดับในช่วงแล้ง อีกทั้งจะหารือกับกรมชลประทาน ชุมชนประมง และองค์กรปกครองท้องถิ่น เพื่อปรับปรุงฝายให้มีทางผ่านปลาที่เหมาะสม ในพื้นที่ที่มีปิดกั้นระหว่างลำน้ำสาขาในส่วนของประเทศไทยกับแม่น้ำโขง
เพื่อให้ปลาหรือสัตว์น้ำสามารถเดินทางผ่านสิ่งขวางกั้นลำน้ำขึ้นไปหาแหล่งผสมพันธุ์วางไข่และแหล่งอาหารในช่วงเวลาที่เหมาะสมได้ สำหรับการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำในแม่น้ำโขงระยะยาวต้องบูรณาการระหว่างประเทศผ่านคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission – MRC)
“สภาวะแม่น้ำโขงจะไม่เป็นเหมือนอดีตอีกต่อไป จะมีความผันผวนของระดับน้ำอยู่ตลอด ชาวบ้านต้องปรับตัวให้ทัน ซึ่งกรมประมงจะเพิ่มช่องทางการสื่อสารผ่านระบบโซเซียลมีเดียที่เกษตรกรเข้าถึงได้ง่ายทั้งการเตือนภัย ข้อมูลทางวิชาการ การช่วยเหลือต่างๆ โดยมุ่งหวังสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับประชากรในพื้นที่ ควบคู่ไปกับการดูแลรักษาทรัพยากรสัตว์น้ำให้เกิดความยั่งยืน” นายอดิศรกล่าว
ทางด้านนางอ้อมบุญ ทิพย์สุนา ผู้แทนเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน (คสข.) กล่าวถึง ภาวะผันผวนของแม่น้ำโขงว่า ประชาชนลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวม 26 อำเภอ 95 พื้นที่ตำบล 1,050 หมู่บ้าน ได้รับผลกระทบอย่างหนักตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา ที่ฝนตกชุก ประเทศต้นน้ำระบายน้ำมาท่วม 7 จังหวัดของไทยซึ่งอยู่ท้ายน้ำ ต่อมาปี 2553 แม่น้ำโขงแห้งขอดในรอบ 40 ปี เนื่องจากมีการปิดเขื่อนในประเทศต้นน้ำเพื่อกักเก็บน้ำ
ในปี 2556 มีการระบายน้ำมาทำให้เกิดน้ำโขงเอ่อท่วมในฤดูหนาว ทางเครือข่ายฯ สำรวจผลกระทบต่ออาชีพประมง ทำเกษตรริมโขง และเลี้ยงปลากระชังในจังหวัดหนองคาย บึงกาฬ มุกดาหาร อำนาจเจริญพบผู้ได้รับความเดือดร้อน 148 ราย เสียหายรวม 7 ล้านบาท ในฤดูฝนปี 2561 ประเทศเพื่อนบ้านปล่อยน้ำลงแม่น้ำโขงจนเกิดน้ำท่วมใหญ่ในเขตพื้นที่ หนองคาย โดยเฉพาะปากน้ำงึมอำเภอโพนพิสัย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี 1-2 เดือน
ล่าสุดปีนี้น้ำโขงแห้งหน้าฝน แล้วกลับเพิ่มระดับอย่างรวดเร็ว ดังนั้นแนวทางฟื้นฟูของกรมประมงจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการช่วยเหลือเกษตรกรและชาวประมงที่ได้รับผลกระทบต่อการประกอบอาชีพ ผลผลิตเสียหาย ขาดรายได้ แต่ในอนาคตต้องการให้หน่วยงานที่ทำหน้าที่บริหารจัดการน้ำ ได้เร่งประสานกับประเทศที่ใช้ประโยชน์จากแม่น้ำโขงร่วมกัน 6 ประเทศเพื่อร่วมกันลดผลกระทบข้ามพรมแด นและความเสียหายต่อระบบนิเวศแม่น้ำโขงที่จะรุนแรงขึ้นได้ในอนาคต
เรียบเรียงโดย : kaijeaw.in.th